ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ผมคือขอม แล้วคุณล่ะ

          ผม(วชิรปราการ)ได้พยายามรวมรวมบทความทางประวัติศาสตร์ บทความทางการทหาร และอื่นๆที่นักวิชาการหลายๆท่าน  มีแนวคิดที่น่าสนใจ  บางเรื่องราวเชื่อว่าเป็นจริงอาจสวนทางกับประวัติศาสตร์ที่เราเคยศึกษาเป็นพื้นฐานมาแล้ว  จึงอยากให้ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์ได้อ่านในอีกแง่มุมหนึ่ง

-------------------------------------------- -------------------------- ---------------------------------------                

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าตลอดห้วงเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมา องค์ความรู้และระเบียบวิธีในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ก้าวหน้าในลักษณะที่เป็นสากล ส่งผลให้มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีกระจายอยู่ทั่วสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ยุคเหล็ก จนมาถึงยุคสุวรรณภูมิ ทวารวดี อู่ทอง ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ฯลฯ หากว่าปัญญาชนสายหลักของไทย กลับมิได้ใช้ภูมิปัญญานำองค์ความรู้และหลักฐานต่างๆที่มีการค้นพบ นำมาเชื่อมโยงและประมวลผลให้เป็นระบบ

   การที่ จีน อินเดียโบราณ และชาติตะวันตก เข้ามามีบทบาทปฏิสัมพันธ์กับ กลุ่มผลประโยชน์ นครรัฐ และรัฐต่างๆในสุวรรณภูมิมาอย่างยาวนาน ชนชาติเหล่านี้มักจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งทิ้งร่องรอยและเบาะแสเอาไว้ เราจึงสามารถสืบค้นเอกสารและหลักฐานต่างๆ นำมาตรวจสอบเหตุการณ์ บุคคล กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ในลักษณะของ double check หรือ triple check อันเป็นหนึ่งในระเบียบวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นด้วย
   ต้องขอบคุณนักประวัติศาสตร์สายเลือดไทยฝ่ายก้าวหน้า เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ฯลฯ ที่ไม่หลงเดินตามแนวของฝรั่งในยุคอาณานิคม กล้าทะลวงกรอบความคิดที่ปิดกั้นของลัทธิชาตินิยม ดังรูปการณ์ - ห้ามตั้งคำถามทำนองว่า ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์อู่ทองและราชวงศ์สุพรรณบุรี มีที่มาที่ไปอย่างไร? ร่วมมือกันตั้งกรุงศรีฯได้อย่างไร? เพราะเหตุใดทั้งสองราชวงศ์จึงต่อสู้แย่งชิงอำนาจการเมืองกันอย่างเข้มข้น? ทำไมกรุงศรีฯกับกรุงสุโขทัยจึงต้องทำสงครามต่อกัน ทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกัน?
   ฐานะที่ผู้เขียนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวสุพรรณบุรี รู้สึกหงุดหงิดที่ตำราประวัติศาสตร์ไทย (เท่าที่เคยมีมา) ให้เครดิตกับราชวงศ์สุพรรณบุรีน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะ “ขุนหลวงพะงั่ว” และ “พระนครอินทร์” ที่คนไทยส่วนใหญ่พากันหลงลืมไปแล้วว่า สองจอมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี ดำเนินนโยบายการเมือง การเมืองระหว่างประเทศ และการค้าอย่างไร จึงสามารถนำพาราชวงศ์บ้านนอกที่ยากจน ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิได้อย่างเหลือเชื่อ


กำเนิดเมือง “สุพรรณภูมิ”
   นับจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีบ่งชี้ว่า พื้นที่ใจกลางสุวรรณภูมิ อันเป็นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน-แม่กลอง-ยม-ลพบุรี-เพชรบุรี นั้น เป็นถิ่นฐานของ “มอญ” ที่รับอารยธรรมพุทธจากชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ สืบเนื่องมาจนถึงราชวงศ์คุปตะ รุ่งเรืองมาแต่ ยุคสุวรรณภูมิ (ราวต้นพุทธกาล – พุทธศตวรรษที่ 10 ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง) จนเจริญถึงขีดสุดในยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 อันมีเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น นครไชยศรี นครปฐม เพชรบุรี อู่ทอง อินทร์บุรี ละโว้ และขึ้นเหนือไปถึง “หริภุญชัย” เป็นต้น
เมื่ออำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิขอมเริ่มรุ่งเรืองขึ้นในรัชสมัยของสูรยวรมันเทพที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1545 - 1593) อิทธิพลทางการเมืองของขอมแผ่เข้ามาปกคลุมใจกลางสุวรรณภูมิ ส่งผลให้อาณาจักรทวารวดีสิ้นสภาพไป ชาวมอญที่อาศัยบริเวณดังกล่าวต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของขอม ยอมรับเอาศิลปะและวิทยาการของขอมมาใช้ในวิถีชีวิต ดังปรากฏ “ศิลปะอู่ทอง” ในห้วงพุทธศตวรรษที่ 17 - 19 อันเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะเขมรกับศิลปะทวารวดี
   กรมศิลปากร โดย ศาตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นหัวหน้าคณะนักโบราณคดี ได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.อู่ทอง ราว 20 กิโลเมตร พบเครื่องประดับต่างๆจำนวนมาก เช่น ตุ้มหู จี้หอยคอ ลูกปัดชนิดต่างๆ ฯลฯ ซึ่งสามารถระบุแน่ชัดว่ามาจากชมพูทวีป เมื่อราว 2500 ปี มาแล้ว เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ชาวสุวรรณภูมิ (มอญ) รู้จักทำมาค้าขายทางทะเลกับชาวอินเดียโบราณมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว โดยผ่านเมืองท่าสำคัญคือ “อู่ทอง”
   หลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ธรณีวิทยา และเทคโนโลยีการสำรวจด้วยดาวเทียม ประมวลผลออกมาว่า เมื่อกว่า 1500 ปีก่อน พื้นที่บริเวณจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน ดังนั้นทะเลจีงอยู่ไม่ไกลจากปากแม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลผ่านเมืองอู่ทองมากนัก อีกทั้งแม่น้ำจระเข้สามพันไม่เคยเปลี่ยนทางเดินเลย นับจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน
   เมื่อกาลเวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปี สายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน-แม่กลอง พัดพาเอาตะกอนดินมาทับถม ชายขอบทะเลจึงค่อยๆตื้นเขินกลายเป็นเลนและพื้นดินไปในที่สุด ปากแม่น้ำจระเข้สามพันจึงเคลื่อนห่างไปจากเมืองอู่ทองทุกปีๆ กระทั่งเรือสำเภาไม่สามารถแล่นเข้ามาทอดสมอยังท่าเมืองอู่ทองได้อีก เมืองอู่ทองจึงกลายมาเป็นเมืองร้างไปราวพุทธศตวรรษที่ 16 – นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมจึงไม่พบศิลปะอู่ทองในเมืองโบราณอู่ทองเลย พบแต่โบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะทวารวดีเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นเครื่องประดับและลูกปัดในยุคสุวรรณภูมิที่เก่าแก่กว่ายุคทวารวดีเกือบหนึ่งพันปี
  นาม 
“พันธุมบุรี” 
ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาตร์ว่าเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน และต่อมาได้ย้ายเมืองมายังฟากตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เมื่อเมืองอู่ทองหมดความสำคัญลงไป ชนชั้นนำ (มอญ) จากเมืองอู่ทองจึงย้ายมาสร้างเมืองใหม่ทับลงบริเวณที่เป็นเมืองพันธุมบุรี(เดิม) ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ขนานนามว่า “สุพรรณภูมิ” พร้อมๆกับการสร้างเมืองสุพรรณภูมิ ได้มีการสร้างวัดสนามชัย บูรณะวัดลานมะขวิดและหลวงพ่อพระป่าเลไลย์ และมีการบวชพระเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง จำนวน 2000 รูป จึงขนานนาม “สองพันบุรี” ให้เป็นอีกนามหนึ่งของเมืองใหม่นี้
   ก่อนหน้า พ.ศ. 1700 ไม่เคยปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กระทั่งตำนานพื้นบ้าน ที่ระบุหรือตีความได้ว่าเคยมีชนชาติสยาม อยู่อาศัยและทำมาหากินตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน-ยม-เพชรบุรี มาก่อน สามารถสรุปภาพรวมของผืนแผ่นดินใจกลางสุวรรณภูมิได้ว่า ชนส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเป็น “มอญ” ที่รับอารยธรรมพุทธมาแต่ตอนต้นพุทธกาล เรียกว่ายุคสุวรรณภูมิ ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง ความรุ่งเรืองของมอญเจริญถึงขีดสุดภายใต้อาณาจักรทวารวดีให้ห้วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 เมื่ออำนาจทางการเมืองของขอมรุกคืบเข้ามามีอิทธิพล อาณาจักรทวารวดีจึงเสื่อมสลายลงไป หากว่าชาวมอญยังสามารถปรับตัวอยู่ภายใต้การปกครองของ “ขอม” ที่ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่ 
“ละโว้”

อารยธรรมลุ่มน้ำโขง
   แหล่งอารยธรรมสำคัญๆของโลกมักเริ่มต้นที่ลุ่มแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำสินธุ (อารยธรรมอินเดียโบราณ) แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส (อารยธรรมเมโสโปเตเมีย) แม่น้ำฮวงโฮ (อารยธรรมจีน) เป็นต้น เมื่อพิจารณาลุ่มแม่น้ำสำคัญๆของแหลมสุวรรณภูมิ พบว่า ทางฟากตะวันตกมีแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาละวิน ตรงกลางของสุวรรณภูมิเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งลุ่มน้ำทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแหล่งอารยธรรมของมอญ ถัดไปทางฟากตะวันออกเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงตอนล่างและทะเลสาบใหญ่เป็นแหล่งอารยธรรมของขอม หากว่าลุ่มน้ำโขงเหนือจำปาสักขึ้นไปจรดเชียงรุ้ง และเลยขึ้นไปจนถึงเมืองหนองแส เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูล “ไทย-ลาว” ขณะที่ลุ่มน้ำแดงทางฟากตะวันออกสุดของสุวรรณภูมิเป็นแหล่งอารยธรรมของ “ชนชาติไท” ที่นักประวัติศาสตร์ไทยสายชาตินิยม ให้ความสำคัญในการศึกษาน้อยมาก
  
 ประเทศลาว (ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ยอมรับอย่างเป็นทางการจากอดีตกระทั่งปัจจุบันว่า อาณาจักรน่านเจ้า (ลาวหนองแส หรือ อ้ายลาวหนองแส พ.ศ. 1192 - 1823) เป็นอาณาจักรที่เป็นบรรพบุรุษของคนลาว แม้แต่ตำราวิชาประวัติศาสตร์ของไทยก่อนหน้านี้ ก็ยอมรับเช่นกันว่า น่านเจ้าเป็นบรรพบุรุษของไทย เพิ่งจะมายกเลิกไปเมื่อราวสามสิบปีที่ผ่านมานี้เอง
   เรื่องราวของขุนบรม หรือ ขุนบรมราชาธิราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของน่านเจ้า จีนเรียกว่า พี ล่อ โก๊ะ ครองราชย์ พ.ศ. 1272 - 1293 กลายมาเป็นตำนานเล่าขานของคนลาวสืบต่อมากระทั่งบัดนี้ เนื่องจากน่านเจ้าต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับจีนเป็นระยะๆมิได้ว่างเว้น ขุนบรมเล็งการณ์ไกลเพื่อวางรากฐานระยะยาวให้กับน่านเจ้า จึงดำเนินการส่งโอรส 7 องค์ แยกย้ายกันเดินทางไปสร้างบ้านแปลงเมืองทางตอนใต้ของน่านเจ้า จนกลายมาเป็นต้นธารอารยธรรมลุ่มน้ำโขงของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว ดังมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
   ขุนลอ โอรสองค์โต ครองเมือง ชวา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงทอง และหลวงพระบาง ภายหลังเมื่อขุนบรมสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1293 ขุนลอได้กลับมาครองราชย์ ณ หนองแส นครหลวงของอาณาจักรน่านเจ้า (ทางการจีนเรียกว่า โก๊ะ ล่อ ฝง) เชื้อสายขุนลอได้ปกครองเมืองชวาต่อเนื่องมาอีก 23 องค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของ เจ้าฟ้างุ่ม (งุ้ม) จึงสถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 1896
   ขุนคำผง ครองเมือง โยนก (ยวน หรือ เชียงแสน) ก่อร่างสร้างอาณาจักรโยนกเชียงแสน หรือ โยนกนาคนคร ขึ้นที่บริเวณลุ่มน้ำกก (สาขาของแม่น้ำโขง) สืบทอดเชื้อสายมาจนถึง ขุนเจือง (ประสูติพ.ศ. 1617) ซึ่งกลายมาเป็นตำนานพื้นบ้าน “ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาวตามลุ่มน้ำโขง เชื้อสายรุ่นต่อๆมาของขุนเจือง คือ พญางำเมือง ได้ครองอาณาจักรพะเยา และเป็นสหายของพ่อขุนรามคำแหง
   เชื้อสายของขุนคำผงองค์หนึ่งชื่อ เจ้าสิริไชยเชียงแสน ครองเมืองไชยปราการ ราว พ.ศ. 1731 ถูกกองทัพมอญเข้าโจมตี (เข้าใจว่าเป็นมอญจากหริภุญชัย) จึงรวบรวมกำลังพลเคลื่อนมาทางใต้ แล้วตั้งมั่นที่เมืองแปบ หรือ ไตรตรึงษ์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ชัดว่า อยู่ที่กำแพงเพชร อันเป็นที่มาของตำนานท้าวแสนปม โอรสของเจ้าสิริไชยเชียงแสน คือ เจ้าอู่ทอง หรือ ท้าวอู่ทอง ได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ในเมืองละโว้ และ อโยธยาศรีรามเทพนคร จนได้ร่วมมือกับราชวงศ์สุพรรณบุรีก่อตั้งอาณาจักรอโยธยา เมื่อ พ.ศ. 1893
   “ขุนเม็งราย” เชื้อสายอีกองค์หนึ่งของขุนคำผง ได้ก่อสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 1805 และยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรหริภุญชัยได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 1835 หลังจากนั้นจึงสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นในปีเดียวกัน
   ขุนอิน หรือ ขุนงั่วอิน เดินทางไกลกว่าใครเข้าสู่ใจกลางสุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมาเชื้อสายรุ่นหลังๆของขุนอิน เติบใหญ่จนได้ครองครองเมืองล้านเพีย (อโยธยา) นี่เป็นประเด็นที่สามารถตั้งสมมติฐานกันเล่นๆว่า เชื้อสายของขุนอินที่ได้ครองศรีอยุธยานั้น เป็นวงศ์สุพรรณบุรี หรือวงศ์อู่ทอง อันเป็นเรื่องที่จะต้องสืบค้นกันต่อไป
   ส่วนโอรสองค์อื่นๆของขุนบรม ขุนกม ครองเมืองคำม่วน ต่อมาคือ อาณาจักรโคตรบูรณ์ ขุนเจือง ครองเมืองพวน (เชียงขวาง) ซึ่งเป็นเมืองเอกของลาวจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน ขุนผาล้าน ครองสิบสองปันนา ถิ่นฐานของชนชาติไท แถบเมืองแถน (เบียนเดียนฟู)
   แม้นว่า 
“ตำนานขุนบรม” 
เป็นเพียงตำนานพื้นบ้านเล่าขานสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อาจมีการเติมแต่งสีสันเข้าไปเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับบรรพชน นี่เป็นเรื่องธรรมดาของตำนานทุกๆเรื่องที่สร้างกันขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาแกนหลักของเรื่อง พบว่า เกิดการเคลื่อนย้าย (ไม่ใช่อพยพ) ของชนชาติไทย-ลาว จากเมืองหนองแส ลงมาทางใต้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 อีกทั้งยังมีตำนานพื้นบ้านรุ่นหลังๆบอกเล่าเรื่องราว สอดรับกับ “ตำนานขุนบรม” เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง เป็นต้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรปฏิเสธตำนานพื้นบ้านไปเสียทั้งหมด ครั้นจะเชื่อเสียทั้งหมดก็ไม่ได้เช่นกัน อย่างน้อยเราสามารถนำมาประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่ออธิบายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ย่อมเป็นเหตุเป็นผลที่น่ารับฟังได้


กรุงศรียโสธรปุระ พ.ศ. 1693
....มหาปราสาทศิลา “พิษณุโลก” ที่ดำเนินการก่อสร้างมาตลอดระยะเวลา 38 ปี มีอันต้องยุติลง เมื่อสูรยวรรมันเทพ ที่ 2 เสด็จสู่สวรรคาลัย ก่อให้เกิดบรรยากาศโศกสลดที่อบอวลไปด้วยกลิ่นกำยาน ระคนกับเสียงขับประโคมโหยหวนของวงมโหรีดังมามิขาดระยะ
   เสียง “นายทาส” ตะโกนโหวกเหวกสั่งการให้บรรดาทาสชายเร่งมือรื้อถอนโครงไม้และวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้างปราสาท สลับกับเสียงคมหวายแหวกอากาศดัง เฟี๊ยบ ก่อนกระทบแผ่นหลังอันเปลือยเปล่าของทาสที่ทำกิริยาอ้อยอิ่ง ทาสผู้นั้นสะดุ้งฮึกแล้วกุลีกุจอทำงานต่อไป บรรดาทาสหญิงเรือนพันต้องรีบเร่งปัดกวาด สะพานนาค โคปุระ ระเบียงคต ตลอดถึง ชั้นบากาน
   ขบวนอิสริยยศสุดอลังการณ์อัญเชิญบรมศพของ “สูรยวรรมันเทพที่ 2” เคลื่อนออกจากกรุงยโสธรปุระ บ่ายโฉมขบวนลงใต้ ก่อนเลี้ยวขวามุ่งเข้าสู่มหาปราสาทพิษณุโลก “ธรณินทรวรรมันเทพที่ 1” กษัตริย์ขอมพระองค์ใหม่ เสด็จเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีอัญเชิญสรีระและดวงพระวิญญาณของสูรยวรรมันเทพที่ 2 กลับคืนสู่องค์วิษณุเทพที่ประดิษฐาน ณ ยอดมหาปราสาทแห่งนี้ พร้อมกับเฉลิมพระนามกษัตริย์ขอมพระองค์ก่อนว่า บรมวิษณุโลก …..
   บรรดาผู้ปราดเปรื่องทางจักรวาลวิทยาต่างลงความเห็นว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นสุดยอดของการใช้ภูมิปัญญาในการจำลองแผนภูมิจักรวาลลงมาไว้บนโลกมนุษย์ อย่างสมบูรณแบบที่สุด ขณะที่ผู้หลงใหลงานศิลปะ ต่างมีทัศนะต้องกันว่า “ศิลปะนครวัด” งานแกะสลักภาพนูนต่ำลงบนแผ่นศิลาทรายที่ปรากฎตามผนังระเบียงคตและนางอัปสราอีกกว่า 1600 ตน นั้น เป็นศิลปกรรมขั้นเทพ 
   นักประวัติศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้า ดั่ง จิตร ภูมิศักดิ์ กลับมีมุมมองที่แตกต่างว่า มหาปราสาทนครวัด เป็นผลงานที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่และรีดนาทาเร้นแรงงานทาสนับเป็นแสนๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี เพียงเพื่อรังสรรค์สถาปัตยกรรมชิ้นวิเศษสุด สำหรับเทิดพระเกียรติและคงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ขอม โดยที่เหล่าทาสไม่ได้อะไรเป็นการตอบแทนเลย นอกจาก แรงงาน หยาดเหงื่อ รอยคมหวาย เลือดเนื้อ และชีวิต ที่ต้องสูญเสียไป พร้อมๆกับความเป็นทาสที่ต้องสืบต่อกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า
   สภาพสังคมยุคขอมโบราณเป็นสังคมทาสอย่างแท้จริง โครงสร้างส่วนบนของสังคมประกอบด้วย ผู้คนในวรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์เพียงจำนวนน้อยนิด ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเจ้าเขมรพื้นเมืองกับเจ้าแขกอินเดียโบราณ ส่วนที่เหลือเป็นทาสเสียทั้งสิ้น ทาสส่วนใหญ่ได้มาจากการที่กองทัพขอมเคลื่อนพลไปโจมตีหัวเมืองต่างๆในสุวรรณภูมิ เท่าที่อิทธิพลของขอมจักคืบไปถึง เมื่อได้ชัยชนะแล้วจึงกวาดต้อนบรรดาเชลยศึกกลับมายังกรุงศรียโสธรปุระ (นครธม) เพื่อใช้เป็นทาสแรงงาน ดังนั้นปราสาทหินทั้งปวงเท่าที่มีการก่อสร้างขึ้นมาในยุคเมืองพระนครล้วนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของทาสทั้งสิ้น
   ภาพแกะสลักนูนต่ำ “เสียมกุก” ที่ระเบียงประวัติศาสตร์ของปราสาทนครวัด (ระเบียงคตด้านใต้ – ถูกขอมให้เครดิตในลำดับท้ายขบวน ถัดจากกองระวังหน้าเท่านั้น) ถือว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงถึงการมีตัวตนของชาวสยามในใจกลางสุวรรณภูมิ “เสียม” หรือ “เซียม” ในความหมายของขอมตั้งแต่ยุคเมืองพระนคร อย่างน้อยตั้งแต่สมัยสร้างปราสาทนครวัดเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน หมายถึง ชาวสยาม ที่อย่างน้อยต้องมีอัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวสยาม เช่น ภาษาพูด ส่วนจักมีความหมายนัยอื่นๆ เช่น หัวขโมย หรือ ชนผิวคล้ำ นั่นเป็นประเด็นปลีกย่อย
   ประเด็นคำถามน่าคิด คือ
1) เพราะเหตุใด ขอมในยุคสมัยของสูรยวรรมันเทพที่ 2 จึงให้เครดิตกับ “เสียมกุก” จนถึงขั้นนำไปจารึกไว้ในขบวนอิสริยยศของสูรยวรรมันเทพที่ 2 ณ ปราสาทพิษณุโลก และ
2) เสียมกุก เป็นใคร มาจากไหน

สุโขทัย ราว พ.ศ. 1750
   ผลงานวิจัยชิ้นเอกของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่สำรวจเส้นทางการค้าโบราณแถบตอนบนของประเทศไทยพบว่ามีสองเส้นทางคือ
1) เส้นทางตะวันตก-ตะวันออก เริ่มต้นจากสุโขทัย ตัดผ่านเมืองศรีเทพ เข้าสู่แอ่งสกลนครและแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำโขง
2) เส้นทางเหนือ-ใต้ จากเชียงใหม่ ผ่านสุโขทัย ละโว้ มุ่งสู่เมืองท่าอโยธยา หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มาแต่ยุคทวารวดี
   นโยบายการค้าทางทะเลของจีนที่มุ่งมายังสุวรรณภูมิหลังพ.ศ.1700 เป็นต้นมา ทำให้การค้าตามเส้นทางตะวันตก-ตะวันออก และเส้นทางเหนือ-ใต้ คึกคักขึ้น ส่งผลให้เมืองเล็กๆอย่างสุโขทัยกลายมาเป็นชุมทางค้าขายและเติบโตเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น พร้อมๆกับฐานะทางด้านเศรษฐกิจของชาวสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียงที่ดีขึ้น “ขุนนาวนำถุม” หรือ “ขุนนาวนำถม” ผู้นำชาวสยามแห่งเมืองเชลียง คงเล็งสถานการณ์ว่า อาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอลงมากในช่วงปลายรัชกาลของชัยวรรมันเทพที่ 7 จึงฉวยโอกาสลุกขึ้นสู้ด้วยการสลัดแอกจากขอมที่ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่เมืองละโว้ สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาเป็นรัฐเอกราช ราว พ.ศ.1750
   ถึงแม้นว่าขุนนาวนำถมทำการณ์ใหญ่ไม่สำเร็จ ถูกขอมโต้กลับ ยึดสุโขทัยกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของขอมอีกครั้ง หากรุ่นลูกของขุนนาวนำถม คือ “ขุนผาเมือง” ได้ร่วมมือกับสหาย “ขุนบางกลางหาว” ทำการขับไล่อำนาจทางการเมืองของขอมออกไปจากสุโขทัย ราว พ.ศ.1788 เอกสารบางชิ้นระบุว่า พ.ศ.1791 และ 1792 แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองที่เป็นเงื่อนงำ อำนาจการเมืองเหนือสุโขทัยกลับเปลี่ยนมือ ตกอยู่กับขุนบางกลางหาว ที่ได้รับการสถาปนาเป็น ขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง ปกครองอาณาจักรสุโขทัย หลังจากนั้นราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์นำถม (บางที่เรียกว่า ราชวงศ์ผาเมือง) ได้ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันต่อมาอีกหลายสิบปี

ศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ทำการจารึกโดยพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามนี รุ่นหลานของขุนนาวนำถม ซึ่งคาดว่าจารึกราว พ.ศ.1884 -1910 ระบุว่าผีบรรพบุรุษของราชวงศ์นำถมและราชวงศ์พระร่วง อยู่แถวเมืองน่าน และเชียงแสน (กลุ่มชาติพันธุ์ มอญ ลาว สยาม เขมร มีความเชื่ออย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การนับถือผีบรรพบุรุษ) อีกทั้งในเชิงนิรุกติศาสตร์ นาม “พระร่วง” นั้น คำว่า “ร่วง” ปริวรรตมาจากคำว่า “รุ่ง” ซึ่งตรงกับภาษาลาวคือ “ฮุ่ง” อันมีต้นรากมาจากตำนานพื้นบ้าน “ท้างฮุ่ง ท้าวเจือง” ของกลุ่มชาติพันธ์ไทย-ลาวตามลุ่มน้ำโขง
   ถึงแม้นยังไม่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุอย่างแน่ชัดว่า ราชวงศ์นำถมและราชวงศ์พระร่วง เป็นใคร มาจากไหน ถึงได้มาตั้งถิ่นฐานแถบสุโขทัย และเติบใหญ่ต่อมาจนถึงขั้นสถาปนารัฐอิสระ หลุดพ้นจากพันธนาการของขอม อย่างน้อยก็มีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า
1) ก่อนหน้า พ.ศ.1750 ลงไปหลายสิบปี แต่ไม่ไกลไปกว่า พ.ศ.1700 กลุ่มชาวสยามอันเป็นรุ่นพ่อหรือรุ่นปู่ของขุนนาวนำถม มาตั้งรกราก ณ ท้องถิ่นสุโขทัย อยู่ภายใต้การปกครองของขอมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้
2) ราชวงศ์นำถมกับราชวงศ์พระร่วง มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติ และมีที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาวบริเวณลุ่มน้ำโขง เหนือสุโขทัยขึ้นไป
3) มีเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ราชวงศ์พระร่วงมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับราชวงศ์สุพรรณบุรี ที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี และราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชที่ปกครองนครศรีธรรมราช

อโยธยาศรีรามเทพนคร พ.ศ. 1768
อโยธยาศรีรามเทพนคร หรือ อโยธยา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลายชิ้น ว่าเป็นเมืองเก่าแก่ยุคทวารวดี ร่วมสมัยกับเมืองสุพรรณภูมิ ละโว้ ฯลฯ มีพัฒนาการผ่านยุคอู่ทอง (พบศิลปกรรมยุคอู่ทอง เช่น หลวงพ่อโต วัดพนันเชิง) จนเข้าสู่ยุคสภาพบ้านเมืองก่อนสถาปนาขึ้นเป็นรัฐอิสระ (Pro-State) ราว พ.ศ. 1700 – 1893 ก่อนที่สถาปนาขึ้นเป็นรัฐอิสระเมื่อ พ.ศ.1893
   ถ้าหากเรามองทะลุม่านกั้น “พ.ศ. 1893” ลงไป ทำการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อศึกษาสภาพสังคมสยามแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายภูมิปัญญาของเรามิใช่น้อยเลยทีเดียว
   เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำสายหลักของพื้นที่ใจกลางสุวรรณภูมิ ประจวบกับนโยบายการค้าทางทะเลของจีนที่มุ่งมายังสุวรรณภูมิ อโยธยาศรีรามเทพนครจึงกลายมาเป็นเมืองท่าสำคัญ และทวีความสำคัญขึ้นเหนือเมืองละโว้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนมาก ชี้ชัดว่า สังคมสยามแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง และก้าวหน้ายิ่งกว่าสังคมสยามแห่งแคว้นสุโขทัย ตัวอย่างเช่น
1) พระไอยการเบ็ดเสร็จ หรือ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด) เป็นกฎหมายของชาวสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะ พระไอยการเบ็ดเสร็จ ตอนท้าย จารึกบนสมุดข่อยเป็นภาษาไทยด้วยอักษรขอม ลงศักราช 1146 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ. 1768 (ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 125 ปี เก่าแก่กว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ของสุโขทัย)
2) อักษรไทย ถูกพัฒนาขึ้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนลุ่มน้ำยม และมีแบบฉบับที่ก้าวหน้ากว่า ดังปรากฎเป็นกฎหมายหลายฉบับก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
3) สมุดข่อย หรือ สมุดไทย เป็นภูมิปัญญาของชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พัฒนาขึ้นมาใช้จดจารึกเรื่องราวต่างๆ และเป็นไปได้อย่างมากว่ารับอารยธรรมนี้มาจากจีนอีกทอดหนึ่ง ขณะที่ชาวสยามลุ่มน้ำยมยังคงใช้แบบแผนของขอมจารึกเรื่องราวลงบนแผ่นศิลา
   หากมองย้อนหลังกลับไป เราพบว่าชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยามีบุคลิกที่สุขุมนุ่มลึก มีความเจนจัดทั้งทางการเมือง การค้า และการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากภูมิปัญญาและอารยธรรมที่ผ่านการเพาะบ่ม-สั่งสมมาเกือบ 200 ปี นั้น เป็นรากฐานที่ค้ำชูและสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสยามกลุ่มนี้ในระยะยาว อีกทั้งการได้ครอบครองชัยภูมิ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” นั่นเท่ากับว่าได้กุมจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการค้าของใจกลางสุวรรณภูมิ อันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพลิกโฉมหน้าของสุวรรณภูมินับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไป
   การก่อกำเนิดของกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ยังมีความหมายถึงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งสำคัญจาก “ยุคทาส” เข้าสู่ “ยุคศักดินา” อันเป็นวิวัฒนาการทางสังคมที่ก้าวหน้า ทั้งยังเป็นการตอกย้ำว่า สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นเงื่อนไขกำหนดการเมือง

ราชสำนักหยวน พ.ศ. 1832

   นอกเหนือจากการใช้นโยบายการทหารเชิงรุกต่อรัฐที่มีอาณาเขตติดต่อกับจีน เช่น น่านเจ้า พุกาม และไดโคเวียด แล้ว “จักรพรรดิ กุบ ไล ข่าน” แห่งราชวงศ์หยวนของจีน ยังดำเนินนโยบายคู่ขนาน คือการทูตเชิงรุก กดดัน นครรัฐและรัฐต่างๆที่อยู่ห่างไกลออกไปในแหลมสุวรรณภูมิ ให้อยู่ภายใต้อำนาจของจีน ต่อมาภายหลังเรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลักษณะนี้ว่า “รัฐในระบบบรรณาการ”
   จดหมายเหตุราชวงศ์หยวนบันทึกไว้ว่า ทางการจีนได้ส่งทูตมายัง “หลอหู” เมื่อ พ.ศ.1832 เพื่อเป็นการตอบแทนที่หลอหู ส่งทูตไปเยือนราชสำนักจีนก่อนหน้านี้ “หลอหู” ในความหมายของจีนคือ “ละโว้” อันเป็นเมืองที่ชาวสยามเคยตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อน แม้นว่าภายหลังได้โยกย้ายมาอยู่อโยทยาศรีรามเทพนคร จีนก็ยังคงเรียกชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า หลอหู ตลอดมา
   “หลอหู” ส่งทูตไปเยือนราชสำนักจีนอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 1834 1840 และ 1842 โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 1842 ราชสำนักหยวนได้ต้อนรับคณะทูตจาก “หลอหู” และ “เสียน” พร้อมๆกัน และทางการจีนได้ส่งทูตมาเยือน “หลอหู” และ “เสียน” เป็นการตอบแทน แสดงให้เห็นว่าจีนรับรองความเป็นรัฐของ “หลอหู” และ “เสียน” แยกจากกันชัดเจน
   “เสียน” ในความรับรู้ของราชสำนักจีน หมายถึงชาวสยามแห่งลุ่มน้ำยม (สุโขทัย) ลุ่มน้ำสุพรรณบุรี (วงศ์สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำเพชรบุรี (นครรัฐเพชรบุรี) และชาวสยามแห่งนครศรีธรรมราช

ปี้ ฉา ปู้ หลี่ พ.ศ. 1837
   พริบพรี (เป็นภาษามอญ ยังไม่ทราบความหมาย ปัจจุบันคือ เพชรบุรี) เป็นเมืองหรือนครรัฐขนาดย่อม ที่รุ่งเรืองขึ้นมาภายใต้อาณาจักรทวารวดี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 จนเมื่ออิทธิพลทางการเมืองของขอมแผ่เข้ามาครอบงำหลังพุทธศตวรรษที่ 16 จึงปรากฏนาม พัชรปุระ หรือ วัชรปุระ ตามจารึกของขอมหลายแห่ง และยังปรากฏอีกนามหนึ่ง “ชัยวัชรปุระ” เมื่อชัยวรรมันเทพที่ 7 ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรขอมเมื่อ พ.ศ. 1724 – 1763
   ตามบันทึกของราชวงศ์หยวนระบุว่า พ.ศ. 1837 “ก่าน มู่ ติง” จากเมือง “ปี้ ฉา ปู้ หลี่” ส่งทูตไปเยือนราชสำนักจีนพร้อมกับบรรณาการ ศ.ยอร์จ เซเดซ์ ถ่ายทอดความหมายของ “ก่าน มู่ ติง” ว่าหมายถึง กัมรเดง อันเป็นตำแหน่งขุนนางในภาษาเขมร เทียบเท่ายศเจ้าเมือง ขณะที่ “ปี้ ฉา ปู้ หลี่” หมายถึง เพชรบุรี นั่นแสดงว่า สถานะของ “เพชรบุรี” ในห้วงปี พ.ศ. 1837 เป็นเพียงนครรัฐของชาวสยาม (เสียน) ที่ทำมาค้าขายกับชาวจีน มิใช่สถานะ “รัฐ” ดั่งเช่น หลอหู หรือ เสียน (สุโขทัย)

กรุงศรียโสธรปุระ พ.ศ.1839
   ผลจากนโยบายการทหารเชิงรุกของของ “จักรพรรดิ กุบ ไล ข่าน” ส่งผลทำให้อาณาจักรน่านเจ้า และพุกาม ล่มสลายลง เมื่อ พ.ศ.1823 และ 1830 ตามลำดับ อีกทั้งยังส่งให้อาณาจักรเวียตนามโบราณได้รับความเสียหายอย่างหนัก กอร์ปกับนโยบายการค้าทางทะเลของราชสำนักจีนที่มุ่งมายังแหลมสุวรรณภูมิก่อนหน้านั้นราวร้อยปีเศษ ได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับ “หลอหู” ซึ่งตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ “เสียน” ที่ตั้งหลักแหล่งที่ลุ่มน้ำยม-สุพรรณบุรี-เพชรบุรี
   ราชสำนักหยวนคงประเมินแล้วว่า “ยุทธศาสตร์ครอบครองสุวรรณภูมิ” โดยใช้นโยบายการทหารบุกเข้าโจมตีอาณาจักรขอม เป็นการลงทุนที่สูงเกินไป จึงเลือกใช้นโยบายการทูตเชิงรุกกดดันรัฐเขมรโบราณ พร้อมๆกับดำเนินนโยบายการค้าทางทะเล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของขอม อันเป็นการลดทอนสถานะและอำนาจของขอม อีกทั้งยังเป็นการเลือกเฟ้น “ชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่” ที่จะเข้ามาแทนที่ “ราชวงศ์วรรมัน” ที่ครองความยิ่งใหญ่ในสุวรรณภูมิมากว่า 800 ปี
   ด้วยอำนาจต่อรองทางการเมืองที่ถดถอยลงไปทุกขณะ เมืองพระนครในรัชสมัยของศรีนทรวรรมันเทพ (อินทรวรรมันเทพที่ 3) ต้องเปิดรับคณะทูตจากราชสำนักหยวนให้ไปเยือน เมื่อ พ.ศ.1839 คณะทูตนี้พำนักอยู่ในเมืองพระนครเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ซึ่งยาวนานผิดธรรมเนียมทางการทูต ทั้งนี้เพื่อคณะทูตจีนจักได้ประเมินสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของรัฐเขมรโบราณอย่างละเอียด เพื่อนำไปกำหนดนโยบายของราชสำนักหยวนต่อสุวรรณภูมิต่อไป
   การเยือนเมืองพระนครครั้งนี้ “โจว ต้า กวน” นักการทูตจีน ได้ติดตามคณะทูตดังกล่าวไปด้วย เขาได้จดบันทึกเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่ได้พบเห็นในเมืองพระนครอย่างละเอียด ต่อมาภายหลังได้มีการค้นพบบันทึกของ โจว ต้า กวน และได้มีการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย อาจกล่าวได้ว่า โจว ต้า กวน เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้เห็นภาพชีวิตจริงๆของเมืองพระนครและจดบันทึกเอาไว้
   สาระสำคัญของ “บันทึก โจว ต้า กวน” ที่ต้องการนำมาประกอบบทความนี้ เป็นดังนี้
1) ชาวจีนเรียกชาวขอมว่า “เจินละ” เรียกชาวสยามว่า “เสียน” และเรียกชาวลาวว่า “เลียว” แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนสามารถจำแนก ขอม สยาม ลาว ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
2) เมืองพระนครที่ โจว ต้า กวน พบเห็น อยู่ในสภาพที่ปรักหักพัง เนื่องจากกองทัพเสียนได้มารุกรานเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้
3) โจว ต้า กวน พบเห็นชาวจีนทำมาค้าขายในเมืองพระนคร แต่เนื่องจากธรรมเนียมการค้าขายเป็นหน้าที่ของสตรี ดังนั้นชาวจีนจึงต้องแต่งงานกับชาวพื้นเมือง ขณะที่ชาวเขมรพื้นเมืองไม่ประกอบอาชีพค้าขาย
4) ชาวเสียนตั้งครัวเรือนอยู่ที่เมืองพระนคร ประกอบอาชีพ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม รวมทั้งรับจ้างปะชุนเสื้อผ้า ขณะที่ชาวเขมรไม่ประสากับอาชีพนี้เลย นอกจากทอผ้าฝ้ายด้วยฝีมือหยาบๆ ส่วนผ้าแพรนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากเมืองจีน

กรณีศึกษา : การผันแรงงานทาสสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
   สุจิตต์ วงษ์เทศ ยืนยันว่านับจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน ไม่ปรากฎหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า เคยมีการอพยพครั้งใหญ่ในลักษณะของการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน ของชาติพันธุ์ใดๆในแหลมสุวรรณภูมิ หากว่ามีการเคลื่อนย้ายในบริบทย่อยๆ เช่น การกวาดต้อนเชลยอันเนื่องมาจากการการสงคราม การเคลื่อนย้ายเพื่อการทำมาค้าขาย ฯลฯ จึงเป็นการยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายว่า ชาวสยามเคลื่อนย้ายจากบริเวณลุ่มน้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่ง แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ยม-สุพรรณบุรี-เพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ.1700 ได้อย่างไร อีกทั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นถิ่นของ “มอญ” ที่อยู่อาศัยภายใต้อำนาจของขอม
   หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 และพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนสู่ชาวสยามได้แล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ จะหาแรงงานจำนวนมากจากที่ไหน เพื่อมาใช้ในการสร้างกรุงธนบุรี เนื่องจากกองทัพพม่ากวาดต้อนราษฎรสยามไปเกือบสิ้น พระองค์ต้องมุ่งตะวันออก ทำสงครามกับลาวเพื่อกวาดต้อนเชลยศึก ลาว ลาวพวน ไทยดำ ฯลฯ กลับมายังกรุงธนบุรี สำหรับใช้เป็นแรงงานในการขุดคูเมืองและก่อสร้างปราสาทราชวัง เช่นเดียวกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีขนาดใหญ่โตกว่ากรุงธนบุรี จึงต้องดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบุรี และยังได้ไปกวาดต้อนมาจากแหลมมลายูอีกด้วย
   ปัญหาที่ตามมาภายหลังจากการสร้างกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จแล้วคือ “แรงงานล้นกรุง” แนวทางการแก้ปัญหาคือ ต้องผันหรือระบายแรงงานเหล่านี้ไปตั้งหลักแหล่งตามชานพระนครและหัวเมืองที่ไม่ห่างไกลจากพระนคร เราจึงพบชุมชนลาวพวน ไททรงดำ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น เพชรบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น รวมทั้งชุมชนแขกมลายูทางฟากตะวันออกของกรุงเทพฯ

Lay-Off Policy สมัยเขมรโบราณ
ก่อนเถลิงราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร “สูรยวรรมันเทพที่ 2” มีพื้นเพมาจาก วิมายปุระ (พิมาย) หัวเมืองเอกของขอม ทำให้พระองค์รู้จักสภาพการณ์ของถิ่นนี้เป็นอันดี รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆตามลุ่มน้ำโขง เมื่อพระองค์ดำเนินนโยบายก่อสร้าง ปราสาทนครวัด ปราสาทพระวิหาร และปราสาทอื่นๆในคราวเดียวกัน ซึ่งต้องแรงงานทาสนับเป็นแสนๆ จนถึงหลักล้านคน พระองค์ทราบดีว่าต้องเกณฑ์แรงงานทาสจากที่ไหน และหนึ่งในคำตอบนั้นคือ “เสียมแห่งลุ่มน้ำโขง”
   จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอว่า “เสียมกุก” เป็นชาวสยามจากลุ่มน้ำกก ขณะที่นักวิชาการบางท่านตีความว่า “เสียมกุก” เป็นกองทัพขุนเจื่องจากเมืองพะเยา สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้าร่วมสมัยที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีของสุวรรณภูมิอย่างเป็นระบบ ชี้ชัดว่า อัตลักษณ์ของ “เสียมกุก” ตรงกันกับ “ความเป็นชาติพันธุ์ไทย-ลาวลุ่มน้ำโขง” ตามวรรณคดี “ท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง” มาถึงตรงนี้จึงได้ข้อสรุปว่า ลุ่มน้ำกกก็ดี ลุ่มน้ำอิงของเมืองพะเยาก็ดี เรื่องราวของท้าวฮุ่ง-ท้าวเจืองก็ดี ล้วนแต่เป็นบริบทที่เกิดขึ้น ณ บริเวณลุ่มน้ำโขงทั้งสิ้น
ผู้คนส่วนใหญ่ที่เคยพบเห็นปราสาทนครวัดด้วยตาตนเองมาแล้ว ต่างนึกคิดไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่เหนือจินตนาการ เกินกว่ามนุษย์จะเสกสรรค์ขึ้นมาได้ แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้วจากแรงงานทาสที่ถูกบังคับและกดขี่ภายใต้ระบบโครงสร้างอำนาจที่แข็งแกร่งของขอม ซึ่งขอมต้องมีระบบการจัดการบริหารที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งในมิติของ ความมั่นคง การส่งกำลังบำรุง การจัดการด้านงานก่อสร้าง ความเป็นระเบียบในหมู่ทาส ฯลฯ
   “เสียมกุก” เป็นคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมในบริบทของการจัดระเบียบบังคับทาสให้อยู่ภายใต้ระบบข้าราชการขอม ผ่าน “เชลยศักดิ์” หรือ “หัวหน้าทาส” หรือ “นายทาส” ที่ขอมแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อใช้ควบคุมบรรดาข้าทาสชาวสยาม อันเทียบเคียงได้กับบริบทของ ขุนนาวนำถม ขุนผาเมือง และขุนบางกลางหาว เพียงแต่ว่าต่างยุคสมัยและต่างสถานการณ์กันเท่านั้น
   “เสียมกุก” อาจประกอบความดีความชอบอย่างใหญ่หลวงภายใต้กองทัพของสูรยวรรมันเทพที่ 2 หรือภารกิจการสร้างปราสาทนครวัด หรือประกอบความชอบใดๆก็แล้วแต่ นักวิชาการหลายท่านตีความว่า ยังไม่มีน้ำหนักถึงขั้นที่กษัตริย์ขอมจักให้เครดิตนำไปจารึกไว้ยังระเบียงประวัติศาสตร์ปราสาทนครวัด จึงตั้งสมมติฐานว่า “เสียมกุก” อาจเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ขอม
   หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า เมื่อสิ้นรัชกาลสูรยวรรมันเทพที่ 2 เมื่อ พ.ศ.1693 อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรขอมถดถอยอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นที่กองทัพเรือ “จาม” บุกเข้ายึดครองเมืองพระนคร เมื่อ พ.ศ. 1720 ตลอดห้วงระยะเวลา 27 ปี ดังกล่าว มีการก่อสร้างปราสาทหินในเมืองพระนครน้อยมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ จะหาทางจัดการกับแรงงานทาสนับเป็นแสนๆคนที่อยู่ในสภาพ “ล้นพระนคร” อย่างไร ขืนปล่อยไว้ รังแต่จะก่อปัญหาเรื่องการกินการอยู่ ปัญหาสังคม และประการสำคัญ ทาสเรือนแสนเหล่านี้อาจรวมตัวกันลุกฮือขึ้นมาเขย่าบรรลังก์กษัตริย์ขอมเมื่อไรก็ได้

จากนครวัดสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
   ราว พ.ศ. 1700 หรือก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ทางการขอมต้องหาทางรีบเร่งจัดการ “Lay-Off” ผันหรือผ่องถ่ายแรงงานทาสเหล่านี้ออกไปเสียจากเมืองพระนคร เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า กลุ่มทาสชาวสยามที่มีเครดิตที่สุด สามารถเข้าถึงการได้รับความไว้วางใจ หรืออาจเป็นเครือญาติของกษัตริย์ขอมตามที่ประวัติศาสตร์กัมพูชาอ้างไว้ จึงได้โอกาสมาตั้งหลักแหล่งยังชัยภูมิ “ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง” ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นที่เมืองละโว้ และต่อมาเมื่อการค้าทางทะเลทวีความสำคัญขึ้นมา จึงขยายตัวลงไปยัง “ศรีรามเทพนคร”
   หากเราติดตามพัฒนาการของสังคมสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ราวพ.ศ.1700 สืบเนื่องมาถึงราชวงศ์อู่ทองได้ครองกรุงศรีอยุธยา เราพบว่าชาวสยามกลุ่มนี้ยังคงแนบแน่นอยู่กับ “ความเป็นขอม” อยู่มากทีเดียว ทั้งรูปแบบความเชื่อ จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม แม้แต่ตัวอักษรที่จารย์ลงบนสมุดข่อยที่เป็นกฎหมายสยามฉบับแรก “พระไอยการเบ็ดเสร็จ” เมื่อ พ.ศ. 1768 ก็เป็น “อักษรขอม” ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นอักษรไทยในภายหลัง เป็นที่คาดกันว่าชาวสยามกลุ่มนี้เป็นบรรพชนของ “ราชวงศ์อู่ทอง” บางแห่งเรียก “ราชวงศ์ละโว้” และบางที่เรียก “ราชวงศ์เชียงราย” อันเป็นเหตุจากการที่ “ท้าวอู่ทอง” ราชนิกุลจากราชวงศ์เชียงรายมาสยุมพรกับเจ้าหญิงราชวงศ์ละโว้ก็เป็นได้
   ชาวสยามอีกสาแหรกหนึ่ง อาจพำนักที่เมืองละโว้อยู่ชั่วขณะ ก่อนเดินทางมุ่งขึ้นเหนือไปยังลุ่มน้ำยม ซึ่งต่อมาเป็น “บรรพชนของขุนนาวนำถม” สืบเนื่องต่อมาถึงขุนผาเมืองและพระร่วง อาจเป็นไปได้ว่าถิ่นฐานของบรรพบุรุษดั้งเดิมคงอยู่ทางเหนือ ไม่ไกลจากสุโขทัยมากนัก ด้วยเหตุที่ชาวสยามกลุ่มนี้อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของขอม และห่างไกลจากเมืองท่าอโยธยาศรีรามเทพนคร จึงมีพัฒนาการทางด้านภาษา วรรณคดี และการค้า ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มชาวสยามที่มีความสัมพันธ์แนบชิดกับ “มอญ” และธำรง “ความเป็นสยาม” เอาไว้มากที่สุด
   กลุ่มชาวสยามที่ขอมไว้วางใจน้อยที่สุด น่าหวาดระแวงอันเนื่องมาจากรบเก่งที่สุด ซึมซับความเป็นขอมเอาไว้น้อย (หัวแข็ง) แต่กลับพยายามแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่มีกลิ่นไอของ “ความเป็นลาว” จากลุ่มน้ำโขงเอาไว้ตลอดเวลา ชาวสยามสาแหรกนี้คือ “เสียมกุก” นั่นเอง จึงได้รับมอบหมายให้ไปตั้งรกรากยังลุ่มน้ำสุพรรณบุรี ซึ่งกลายมาเป็นบรรพชนของ “ราชวงศ์สุพรรณบุรี” ในเวลาต่อมา (มีเหตุผลประกอบหลายประการ เช่น สำเนียงเหน่อแบบสำเนียงหลวงพระบาง มีบทบาทสำคัญในการชักนำ “วัฒนธรรมลาว” เข้าสู่ราชสำนักอยุธยา ฯลฯ ขอนำเสนอรายละเอียดในบทความตอนที่ 2)


ลุ่มน้ำสุพรรณบุรีในห้วง พ.ศ.1700
   ถือว่าเป็นแดนกันดาร รกร้าง และอยู่ห่างไกลจากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ อันเนื่องมาจากปากแม่น้ำสุพรรณบุรีอยู่ห่างจากทะเลมากนั่นเอง เมืองอู่ทองเพิ่งกลายเป็นเมืองร้างก่อนหน้านั่นราวร้อยปี ดังนั้นใครก็ตามที่ถูกส่งมายังแดนนี้เท่ากับว่าถูกเนรเทศเลยทีเดียว
   หากก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าบรรพชนของ “ราชวงศ์สุพรรณบุรี” อาจไม่ใช่เสียมกุก อาจเป็นเทือกเถาของ “ขุนงั่วอิน” จากหลวงพระบางที่ตามมาสมทบยังแถบสุพรรณบุรีภายหลังก็เป็นได้
   หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า “เพชรบุรี” เป็นเขตอิทธิพลทางการเมืองของราชวงศ์สุพรรณบุรีมาช้านาน ดังนั้น ก่าน มู่ ติง” จากเมือง “ปี้ ฉา ปู้ หลี่” ที่ไปเยือนราชสำนักหยวนเมื่อ พ.ศ. 1837 อาจเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ “ราชวงศ์สุพรรณบุรี” ต่อมหาอำนาจจีน อันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ราชวงศ์สุพรรณบุรีได้เรียนรู้ว่า หากต้องการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิ จักต้องผูกมิตรและสร้างความเชื่อถือต่อทางการจีน เพื่อให้จีนช่วย “ถ่วงดุลอำนาจ” กับราชวงศ์อู่ทองที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่
   วิพากษ์ (1) ถ้าหากนโยบายผันแรงงานทาสออกจากเมืองพระนครเกิดขึ้นจริง ในห้วง พ.ศ.1700 ก็ควรเกิดแก่แรงงานทาสกลุ่มอื่นๆด้วยเช่นกัน เช่น ส่วย เญอ ลาว ข่า ฯลฯ ปัจจุบัน เราพบว่ามีชาวไทยเชื้อสาย ส่วย และ เญอ เกาะกลุ่มกันอยู่อาศัยที่บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ อันเป็นอาณาบริเวณที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเขมรโบราณ “ส่วย” และ “เญอ” เป็นชนกลุ่มน้อยที่ร่วมสมัยกับขอม อาจอาศัยอยู่บริเวณนี้มาก่อน หรือเมื่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทาสแรงงานแล้วถูกผันกลับมายังถิ่นฐานเดิมก็เป็นไปได้
   วิพากษ์ (2) บารายและปราสาทหินขนาดใหญๆล้วนแต่อยู่ในเมืองพระนครเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นแรงงานทาสหลากหลายเผ่าพันธุ์ จำนวนหลายแสนคน ต้องถูกเกณฑ์มาชุมนุมกันอยู่ที่เมืองพระนคร แต่ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยตกค้างอยู่ในกัมพูชาน้อยมาก นั่นคงเป็นเหตุผลของความมั่นคง ที่เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จจำต้องต้องผันแรงงานทาสเผ่าพันธุ์ต่างๆเอาไปไว้ยังที่ห่างไกลจากตัวเมืองพระนครหรือชายขอบอาณาจักรขอม

แอก - ที่รอการปลดเปลื้อง
   27 ปี หลังจากยุคนครวัด รัฐทาสเขมรโบราณควรถึงแก่กาลจบสิ้นไปแล้ว เมื่อกองทัพเรือ “จาม” ยกพลเข้ายึดครองเมืองพระนครไว้ได้ถึง 4 ปี (พ.ศ.1720) หากพวกจามขาดการจัดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ถูกเจ้าชายชัยวรรมันรวบรวมกำลังชาวขอมและทหารรับจ้าง “โต้กลับ” กำชัยชนะขั้นเด็ดขาดในการยุทธนาวี ณ “ยุทธภูมิ โตน เล สาบ” เมื่อ พ.ศ.1724 เจ้าชายชัยวรรมันจึงก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ขอม “ชัยวรรมันเทพที่ 7” ฟื้นฟูเมืองพระนครให้กลับมารุ่งเรืองอีกเป็นยุคที่ 4 พร้อมกับมีการก่อสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่ๆเป็นจำนวนมาก เช่น ปราสาทบายน ปราสาทพระขัน ปราสาทตาพรหม ฯลฯ
   ประสบการณ์อันเลวร้ายของการเป็น “แรงงานทาส” ในยุคการก่อสร้างปราสาทนครวัด ยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของทาส เมื่อต้องมีการเกณฑ์ทาสขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จึงก่อให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง ดังนั้นชัยวรรมันเทพที่ 7 จึงต้องออกกุศโลบายหลากวิธีเพื่อกำหราบทาส กล่าวได้ว่า ไม่มียุคสมัยใดอีกแล้วที่กลิ่นไอแห่งความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกษัตริย์ขอม จักแผ่ซ่านและอบอวลไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ดั่งยุคสมัยของ “ชัยวรรมันเทพที่ 7”
   ชัยวรรมันเทพที่ 7 ส่งโอรสองค์ใหญ่ เจ้าชายอินทรวรรมัน (ต่อมาเถลิงราชย์ต่อจากชัยวรรมันเทพที่ 7 เป็น อินทรวรรมันเทพที่ 2) มาครองเมืองละโว้เพื่อควบคุม “นายทาส” และ “ข้าทาส” ภาคพื้นสุวรรณภูมิแบบไม่ให้กระดิก พร้อมกับสำทับด้วยพิธีกรรมพิสดารต่างๆนานา เช่น การส่งส่วยน้ำ การสรงน้ำมูรธาภิเศก ฯลฯ เพื่อตรึงบรรดาข้าทาสไม่ให้โงหัว
   ชาวสยาม (และชาวมอญ) แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสุพรรณบุรี มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับอิทธิพลที่เข้มงวดของขอม ดังตัวอย่างภูมิปัญญาที่เห็นได้ชัดเจนคือ นำ “ศิลปะบายน” มาผสมผสานกับ “ศิลปะทวารวดี” หากเทน้ำหนักของงานศิลปกรรมให้กับ “ศิลปะบายน” จึงกลายมาเป็น “ศิลปะอู่ทอง ยุคที่ 2” เช่น หลวงพ่อโต-วัดป่าเลไลยก์ หลวงพ่อโต-วัดพนัญเชิง เป็นต้น
   ความยิ่งใหญ่ของขอมในยุคสมัยของชัยวรรมันเทพที่ 7 อาจส่งทำผลให้พัฒนาการของชาวสยามทั้งสามสาแหรกต้องชะงักลงไป หากว่าได้หล่อหลอม “อุดมการณ์ร่วมกัน” ที่สำคัญคือ ต้องหาทาง “ปลดแอก” ที่ถูกขอมพันธนาการเอาไว้หลายชั่วอายุคนออกไปเสีย ความพยายามของขุนนาวนำถม เมื่อราว พ.ศ. 1750 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
   เนื่องจากชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าถึงระบบความคิดของพวกขอม รู้จักขอมเป็นอย่างดี จึงค่อยๆเดินเกมอย่างละเมียดละมัย กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนให้แนบแน่น ไปพร้อมๆกับสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจจากการค้าทางทะเล ขณะเดียวกันก็ชำเรืองดูว่าอำนาจทางการเมืองของขอมถดถอยลงไปขนาดไหนแล้ว
   เมื่อถึงจุดที่มีความพร้อมชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลือกใช้ “ยุทธศาสตร์การทหารเชิงรุก” เคลื่อนทัพเข้าโจมตีเมืองพระนครอย่างฉับพลันทันที เป็นไปได้อย่างมากว่า ชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ที่ร่ำรวยกว่า) ร่วมมือกับ ชาวสยามลุ่มน้ำสุพรรณบุรี (ที่ยากจน แต่รบเก่ง รู้ยุทธวิธีที่จะสู้กับขอม) ยกพลบุกเข้าตีกรุงศรียโสธรปุระ ในห้วงเวลาไม่กี่ปี ก่อนหน้าที่คณะทูตราชวงศ์หยวนไปเยือนเมื่อ พ.ศ.1839

บทส่งท้าย
   กว่าที่ชาวสยามจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นใหญ่ในแหลมสุวรรณภูมิได้นั้น ต้องผ่านการเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร ถูกกวาดต้อนจากลุ่มน้ำโขงตอนบน (แถบลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำอิง และหลวงพระบาง) เข้าสู่กรุงศรียโสธรปุระ เพื่อใช้เป็นทาสแรงงานก่อสร้างปราสาทราชมณเฑียร จนท้ายที่สุดถูกผ่องถ่ายมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ยม-สุพรรณบุรี-เพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ. 1700 ชาวสยามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเครือญาติกัน วัฒนธรรมและความเชื่อเหมือนๆกัน พูดจาภาษาเดียวกัน
   “ยุทธศาสตร์ครอบครองสุวรรณภูมิ” ของราชสำนักหยวน เมื่อราว พ.ศ. 1830 เปรียบดั่งพายุลูกใหญ่ที่โหมพัดกระหน่ำสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ยม-สุพรรณบุรี-เพชรบุรี ตระหนักดีว่าสุวรรณภูมิกำลังเปลี่ยนแปลง มหาอำนาจที่แท้จริงไม่ใช่ขอมอีกต่อไป แต่เป็นจีน ชาวสยามกลุ่มต่างๆจึงดำเนินนโยบายผูกสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจีนอย่างแนบแน่น พร้อมๆกับรอคอยจังหวะที่อำนาจทางการเมืองของรัฐเขมรโบราณถดถอยลง จึงฉวยโอกาสรุกฆาตต่อขอม ประกาศก่อตั้งรัฐอิสระขึ้นมา
   ชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องใช้เวลาเกือบ 200 ปี สำหรับการเพาะบ่มและฟูมฟักอารยธรรม เช่น การสร้างตัวอักษร กฎหมายและวรรณคดี สมุดข่อย รวมทั้งการดำเนินนโยบายสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ สานความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับมหาอำนาจจีน รอคอยจังหวะโอกาสจนมั่นใจแล้วจึงรุกคืบทางการเมือง จนสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 1893 ขณะที่ชาวสยามลุ่มน้ำยมเน้นทางการเมืองเป็นด้านหลัก ต้องการปลดแอกจากขอมให้เร็วที่สุด ดังความพยายามของขุนนาวนำถมในการสถาปนากรุงสุโขทัยครั้งแรก ราว พ.ศ. 1750 และมาสำเร็จในรุ่นขุนผาเมืองและขุนบางกลางหาวเมื่อ พ.ศ. 1788
   ผู้นำชาวสยามลุ่มน้ำสุพรรณบุรี-เพชรบุรีเป็นกลุ่ม “เจ้าชายบ้านนอกที่ยากจน” จึงมีบทบาทค่อนข้างน้อยให้ห้วงเวลา 100 ปีแรกเศษ เล่นบท “พระรอง” สนับสนุนราชวงศ์อู่ทองมาโดยตลอด คณะทูตจากนครรัฐเพชรบุรีที่ส่งไปเยือนราชสำนักหยวนเมื่อ พ.ศ.1837 นั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชาวสยามกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ว่า หากคิดจะเป็นใหญ่ “ต้องเข้าให้ถึงจีน”
   เหตุพลิกผันที่ถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” สำหรับชาวสยามลุ่มน้ำสุพรรณบุรี-เพชรบุรี คือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในแผ่นดินจีน เมื่อ “ราชวงศ์หมิง” ขึ้นมาครองอำนาจสืบต่อจาก “ราชวงศหยวน” เมื่อ พ.ศ. 1911 ราชสำนักหมิงให้ความสำคัญกับนโยบายการค้าทางทะเลที่มุ่งมายังสุวรรณภูมิเป็นอย่างมาก ขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์สำคัญของราชวงศ์สุพรรณบุรีจึงดำเนินนโยบายทางการทูต “เข้าถึง” ราชสำนักหมิงได้สำเร็จ นี่เป็น....

    บันไดก้าวแรกที่ชักนำราชวงศ์สุพรรณบุรี ไปสู่ความเป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิ

ปิดม่านประวัติศาสตร์วงศ์อู่ทอง-วงศ์สุพรรณบุรี
ผ่านบันทึกร่วมสมัยของจีน

ดร.ปริวรรต สาคร

 

   การศึกษาประวัติศาสตร์ ดั่งเช่น เรื่องราวสมัยอยุธยาตอนต้น หากมุ่งค้นคว้าแต่หลักฐาน/เอกสาร ที่จำกัดเฉพาะที่มีในประเทศไทย หรือเท่าที่ทางการเผยแพร่ คงไม่เพียงพอต่อการหาข้อสรุปเพื่ออธิบายสภาวะทางการเมือง/การเมืองระหว่างประเทศ/เศรษฐกิจ/สังคม ในสถานการณ์ ณ ห้วงเวลาขณะนั้นได้เท่าที่ควร มีความจำเป็นต้องค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสต์ร่วมสมัยจากแหล่งอื่นๆ อีกทั้งต้องศึกษาความสัมพันธ์และความเป็นไปของรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้ เพื่อนำมาหาข้อสรุปอีกด้วย.......

กว่าสี่พันปี ของความเป็นประเทศมหาอำนาจ ผ่านการปกครองของ 24 ราชวงศ์ จนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐเมื่อ พ.ศ. 2455 “จีน” มีบทบาทสำคัญต่อ ความเป็นไปของ อาณาจักร/รัฐ/ประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากอดีตจวบปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งมิติของการเมือง การเมืองระหว่างประเทศ การค้า วัฒนธรรม ฯลฯ
อัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ของระบบราชการจีน รวมถึงเหล่าปัญญาชนและชาวจีนทั่วไปที่รู้หนังสือ คือ มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆอย่างเป็นระบบ ทั้งในรูปแบบของพงศาวดารราชวงศ์ต่างๆ จดหมายเหตุประจำรัชกาล ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในบริบทนี้ ต่างลงความเห็นว่า มีความถูกต้องและแม่นยำทั้ง ชื่อบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ลำดับเหตุการณ์ วัน-เวลา 
โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 - 2187) ที่ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
สืบเนื่องมาจนถึงตอนกลาง
 

    เศรษฐกิจคือเงื่อนไขกำหนดการเมือง
นักประวัติศาสตร์ชั้นนำของไทยที่มีกรอบความคิดก้าวหน้า เช่น 
จิตร ภูมิศักดิ์ มานิต วัลลิโภดม ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม สุจิตต์ วงศ์เทศ พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ ฯลฯ ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การก่อกำเนิดของรัฐต่างๆภายหลังการเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขอม เช่น สุโขทัย อยุธยา ล้านนา ล้านช้าง จามปา ฯลฯ ล้วนแต่เป็นผลมาจากที่ “จีน” ดำเนินนโยบายการค้าทางทะเลมุ่งมายังแหลมสุวรรณภูมินั่นเอง อีกทั้งรูปแบบทางเศรษฐกิจและการเมืองของจักรวรรดิขอม ที่เป็นสังคมทาสได้เลยจุดอิ่มตัวไปแล้ว จึงเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบศักดินา อันเป็นวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ
    แน่นอนว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ส่งผลต่อการล่มสลายของจักรวรรดิขอม เช่น การแตกแยกกันเองของชนชั้นปกครองขอม อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายหินยานที่ทลายลัทธิความเชื่อแบบพราหมณ์ของพวกขอม รวมทั้งจิตสำนึกของบรรดาทาสที่แสวงหาความเป็นไท หาหนทางปลดแอกที่ขอมพันธนาการเอาไว้หลายชั่วชีวิต ออกไปเสีย

   นโยบายต่างประเทศของจีนต่อรัฐในภูมิภาคอินโดจีน

เมื่อราชวงศ์ถังปกครองจีน (พ.ศ 1161 - 1450) เป็นยุคที่ร่วมสมัยกับกับ อาณาจักรน่านเจ้า จักรวรรดิขอม อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรโบราณของเวียตนาม จีนดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อน่านเจ้า และเวียตนาม ด้วยการทำสงครามรุกราน หากว่าราชวงศ์ถังยังไม่เป็นเอกภาพและมีความเข้มแข็งที่มากพอ จึงไม่สามารถกำหราบน่านเจ้าและเวียตนามลงได้ ขณะเดียวกันทางการจีนได้ส่งทูตมายังจักรวรรดิขอม เพื่อเร่งรัดให้ส่งบรรณาการแก่จีน หากพวกขอมที่มีวัฒนธรรมแข็ง เช่นเดียวกับ พม่า และเวียตนาม ไม่ยอมรับคณะทูตของจีน
   
เอกสารบางแห่งระบุว่า ขอมได้ฆ่าคณะทูตของจีนเสียด้วย

พ้นจากยุคราชวงศ์ถัง เป็นราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง) ที่ขึ้นมาปกครองจีน (พ.ศ. 1503 - 1822) ซึ่งยังคงดำเนินนโยบายการเมืองต่อรัฐเพื่อนบ้านทางใต้ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากราชวงศ์ถัง และในยุคร่วมสมัยนี้ได้เกิดรัฐใหม่ทางใต้ ที่ทางการจีนถือว่าเป็นคู่ปรปักษ์สำคัญขึ้นมา นั่นคือ อาณาจักรพุกาม (พ.ศ. 1587 - 1830)
ทางการจีนในสมัยราชวงศ์ซ้องเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองต่อน่านเจ้าให้เป็นไปในลักษณะที่นุ่มนวลขึ้นโดยใช้กุศโลบาย “สยุมพรทางการเมือง” ประสานไมตรีและครอบงำทางการเมืองต่อน่านเจ้าไปพร้อมๆกัน (น่านเจ้ามีกรอบวัฒนธรรมค่อนข้างอ่อน จีนมีกรอบวัฒนธรรมที่แข็ง) ทั้งนี้เพื่อใช้น่านเจ้าเป็นทางผ่านหรือเป็นฐานสำหรับการโจมตีพุกามนั่นเอง นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมพม่า เชื่อว่า การที่อาณาจักรพุกามล่มสลายลงไปนั้น เป็นผลมาจากคนไทยน่านเจ้าเข้าข้างจีน

   แสนยานุภาพของราชวงศ์หยวน กับผลกระทบต่อสุวรรณภูมิ
เมื่อราชวงศ์หยวน (หงวน) ขึ้นปกครองจีน (พ.ศ. 1807 - 1911) ด้วยความพร้อมของกองทัพที่มีแสนยานุภาพเกรียงไกร จึงดำเนินนโยบายการเมืองต่อรัฐเพื่อนบ้านอย่างแข็งกร้าวด้วยการทำสงคราม อันมีผลทำให้ น่านเจ้าและพุกาม ล่มสลายลงใน พ.ศ. 1823 และ 1830 ตามลำดับ และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทัพมองโกลของราชวงศ์หยวนได้โจมตีอาณาจักรไดโคเวียด หากว่าบรรพบุรุษของชาวเวียตนามต่อสู้อย่างเหนียวแน่น รอดพ้นจากน้ำมือมองโกลไปได้ หากว่าสภาพบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ
   ผลจากการล่มสลายของพุกามและน่านเจ้า รวมทั้งความย่อยยับของไดโคเวียด ส่งผลทำให้ “ขอม” ผ่อนท่าทีต่อจีน ยอมต้อนรับคณะทูตของจีนที่ไปเยือนเมืองพระนคร (นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1839 ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อำนาจต่อรองทางการเมืองของจีนในขณะนั้น “สูงลิบลิ่ว” ขณะที่อำนาจของฝ่ายขอมอยู่ในระหว่างขาลง ตัวชี้วัดคือ สุโขทัยแยกไปเป็นอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 1788 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการแยกตัวของอาณาจักรจามปา และต่อมา อยุธยากับล้านช้าง แยกตัวเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ. 1893 และ 1896 ตามลำดับ

   การมาเยือนเมืองพระนครของคณะทูตราชวงศ์หยวนในครั้งนี้ มีปัญญาชนจีนท่านหนึ่ง “เจียว ต้า กวน” ติดตามคณะทูตมาด้วยและได้พำนักอยู่ในเมืองพระนครเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี เจียว ต้า กวน ได้บันทึกเรื่องราวที่เขาพบเห็นในเมืองพระนครเอาไว้อย่างละเอียด กล่าวได้ว่า เจียว ต้า กวน เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้พบเห็นอาณาจักรขอมด้วยตาตนเอง แล้วจดบันทึกเป็นเรื่องราว บันทึกของ เจียว ต้า กวน มีความถูกต้อง แม่นยำ ทั้งสถานที่ บุคคล และการอธิบาย แม้นว่าเขาจะไม่ค่อยมีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมขอมนัก ซึ่งต่อมาได้มีการค้นพบบันทึกของ เจียว ต้า กวน และได้มีแปลถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย
   ตอนหนึ่ง เจียว ต้า กวน อธิบายสภาพบ้านเมืองของเมืองพระนครไว้ว่า บ้านเมืองของขอมปรักหักพังอันเนื่องมาจากกองทัพเสียนรุกรานเมื่อไม่กี่ปีมานี้ (จีนเรียกชาวสยามว่า เสียน) สุดท้ายกษัตริย์ขอมยอมเจรจาหย่าศึก กองทัพเสียนจึงยกพลกลับไป – นี่เป็นประเด็นที่จะนำไปตีความกันต่อไป ว่า กองทัพเสียนจากที่ไหน 

   ..... สุพรรณบุรี ละไว้ หรือ สุโขทัย ที่มาโจมตีเมืองพระนคร....

   อีกตอนหนึ่ง เจียว ต้า กวน เล่าถึงสินค้าจำพวก ผ้าไหม ผ้าแพร ที่พบเห็นในเมืองพระนคร ระบุว่า เป็นสินค้าที่มาจาก เสียน แน่นอนว่า ผ้าไหม อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวเสียนผลิตได้เอง แต่ผ้าแพร น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากจีน ผ่านเมืองท่าค้าขายของชาวเสียนอีกทีหนึ่ง นั่นแสดงให้เห็นว่า พวกเสียน (อโยธยา/สุพรรณบุรี/ละโว้/สุโขทัย เมืองใดเมืองหนึ่ง หรือเมืองอื่นๆของอาณาจักรอยุธยาในเวลาต่อมา) มีศักยภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระหว่างขาขึ้น ขณะที่พวกขอมกำลังโรยราลงไป


บันทึกสมัยราชวงศ์หมิง –
เปิดม่านประวัติศาสตร์
 วงศ์สุพรรณบุรีกับวงศ์อู่ทอง

   เอกสารประวัติศาสตร์ของทางการไทย ระบุว่าสมัยสุโขทัยได้มีการส่งคณะทูตไปเมืองจีนหลายครั้ง (ตรงกับราชวงศ์หยวน) โดยเฉพาะในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง แม้แต่องค์ความรู้และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลก (เตาทุเลียง) เป็นที่สันนิษฐานว่านำเข้ามาจากเมืองจีน และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ก่อนที่ราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณบุรีจะบรรลุข้อตกลงทางการเมืองในการก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาร่วมกันนั้น ราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง หรือทั้งสองราชวงศ์ คงมีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นอันดีกับทางราชวงศ์หยวนของจีน

   เมื่อราชวงศ์หมิงขึ้นมาปกครองจีน (พ.ศ. 1911 - 2187) จักรพรรดิฮงหวู่ได้ส่งคณะทูตมายังพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1913 ตรงกับรัชสมัย พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี เพื่อแจ้งข่าวว่าพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว และคงเป็นการชี้นำทางการทูตว่า ทางการอยุธยาต้องส่งคณะทูตไปเมืองจีนเพื่อถวายบรรณาการ นับว่าเป็นโอกาสทองของขุนหลวงพะงั่วและราชวงศ์สุพรรณบุรีในเวลาต่อมาอีกหลายสิบปี ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าทางทะเลกับจีน อันมีผลทำให้วงศ์สุพรรณบุรีสามารถสร้างฐานอำนาจอย่างมั่นคงให้กับตนเอง

   ตลอดรัชกาลของขุนหลวงพะงั่ว (พ.ศ. 1913 - 1931) ทางการอยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนถึง 24 คณะ และเมื่อสิ้นรัชกาลขุนหลวงพะงั่ว สืบเนื่องมาจนสิ้นรัชกาลของพระนครอินทร์ (พ.ศ. 1967) อยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนอย่างต่อเนื่องอีกถึง 32 คณะ ขณะที่ทางการจีนส่งทูตมาเยือนอยุธยาเป็นการตอบแทน 15 คณะ ถือว่าเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชสำนักจีน (หมิง) กับราชสำนักอยุธยา


 

   ขุนหลวงพะงั่ว
“ซาน เลี่ย เจา บี๋ หยา” ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิงหลายฉบับ นับตั้งแต่ พ.ศ. 1913 – 1920 นักประวัติศาสตร์หลายท่านตีความว่า “สมเด็จเจ้าพญา” หมายถึง พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว
นอกจากนี้ยังปรากฏคำอื่นๆที่น่าสนใจในเอกสารของจีน เช่น “ซาน เลี่ย เจา บี๋ หยา ซือ หลี่ เชอ หล่อ ลู่” ตีความว่า “สมเด็จพ่อพญาศรีอินทรราช” หมายถึง พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว

ซู เหมิน บาง หวาง (ไม่ทราบว่าถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร) นักประวัติศาสตร์ตีความหมายถึง พระอนุชาของขุนหลวงพะงั่ว ครองเมืองสุพรรณบุรี อันเป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญของวงศ์สุพรรณบุรี

   ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา – รัฐประหารครั้งที่ 1
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 1912 พระราเมศวร โอรสองค์โตที่ครองเมืองละโว้ ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่สองของพระนครศรีอยุธยา (วงศ์อู่ทอง) หากยังไม่ทันข้ามขวบปี ทัพของขุนหลวงพะงั่วจากเมืองสุพรรณบุรี เคลื่อนพลเข้าประชิดกรุงศรีฯ ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพระราเมศวร และต่อมาสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองโดยปราศจากการรบพุ่ง (ว่าตามเอกสารประวัติศาสตร์ของทางการไทย) พระราเมศวรกลับไปครองเมืองละโว้ ส่วนขุนหลวงพะงั่วขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์วงศ์สุพรรณบุรี)

เจา เอี๋ยน กู๋ ม่าน – เจา หลู่ ฉวิน อิน เจ้าชายนักการทูตแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี
เอกสารราชวงศ์หมิง ระบุว่า พ.ศ. 1914 คณะทูตจีนที่มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับศรีอยุธยาได้กลับเมืองจีน โดยมีคณะทูตของอยุธยาเดินทางไปด้วยกัน หนึ่งในคณะทูตของอยุธยา จีนเรียกว่า “เจา เอี๋ยน กู๋ ม่าน” นักประวัติศาสตร์ตีความว่า “เจ้าชายอินทรกุมาร” โอรสของ ซู เหมิน บาง หวาง พระอนุชาของขุนหลวงพะงั่ว ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี ดังนั้น เจ้าชายอินทรกุมาร (ประสูติ 1902 พระชนมายุ 12 พรรษา) จึงเป็นพระนัดดา (หลาน) ขุนหลวงพะงั่ว นั่นเอง

   พ.ศ. 1916 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการทูตที่ไม่ปกติขึ้นที่ราชสำนักราชวงศ์หมิง เมื่อ ซาน เลี่ย ซือ หนิง (สมเด็จ ..... ไม่ทราบว่าถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างไร) พระมารดาของพระราเมศวร ได้ส่งคณะทูตไปเมืองจีน ร้องเรียนจักรพรรดิจีนว่า พระราเมศวรถูกขุนหลวงพะงั่วชิงราชสมบัติไปอย่างไม่เป็นธรรม
ขุนหลวงพะงั่วแก้เกมการเมืองของวงศ์อู่ทองด้วยการส่งคณะทูตตามไปเมืองจีนแบบติดๆ จนคณะทูตทั้งสองคณะที่เดินทางจากหลอหู (ศรีอยุธยา) มาพบกันที่ราชสำนักจีนนั่นเอง ทำให้ทางการจีนไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่อยุธยา จึงไม่อนุญาตให้คณะทูตทั้งสองคณะเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีน (ไม่ต้อนรับอย่างเป็นทางการ) แต่บันทึกของทางการจีนเกี่ยวกับกรณีนี้ เป็นไปในทำนองที่เป็นคุณต่อฝ่ายราชวงศ์สุพรรณบุรี

   บันทึกของราชวงศ์หมิงระบุอีกว่า คณะทูตจากราชสำนักอยุธยาไปเยือนจีน 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 1917 1918 และ 1920 มีการระบุชื่อบุคคลสำคัญในคณะทูต (น่าจะหมายถึง ราชทูต) คือ “เจา หลู่ ฉวิน อิน” นักประวัติศาสตร์ตีความว่าเป็น เจ้านครอินทร์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับ เจ้าชายอินทรกุมาร ในวัยเยาว์
“เจา หลู่ ฉวิน อิน” ราชทูตจากราชสำนักอยุธยา เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิจีนเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นให้อัญเชิญพระราชลัญจกร พร้อมคำจารึกแปลเป็นไทยว่า “พระราชลัญจกรสำหรับกษัตริย์แห่ง เสียม หลอ” มาถวายขุนหลวงพะงั่ว นั่นเท่ากับว่า เจา หลู่ ฉวิน อิน สามารถดำเนินกุศโลบายทางการทูตให้ราชสำนักจีนยอมรับสถานะและอำนาจของขุนหลวงพะงั่ว ว่าเป็นกษัตริย์แห่งพระนครศรีอยุธยาโดยชอบธรรม

   จวบจน พ.ศ. 1927 เจา หลู่ ฉวิน อิน เป็นราชทูตไปเจริญสันถวไมตรีกับราชสำนักจีนอีกครั้งหนึ่ง


   
ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา – รัฐประหารครั้งที่ 2
เมื่อขุนหลวงพะงั่ว เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1931 เจ้าฟ้าทองลั่น หรือ ทองจันทร์ พระชนมายุเพียง 16 พรรษา ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้เพียง 7 วัน พระราเมศวร ยกทัพมาจากละโว้ ทำรัฐประหารสำเร็จ สำเร็จโทษพระเจ้าทองลั่นด้วยท่อนจันทน์ แล้วขึ้นครองราชย์ครั้งที่สองในปี 1931 นั่นเอง

   การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน (ต่อ)
พ.ศ. 1932 เจา หลู่ ฉวิน อิน (ประสูติ 1902 พระชนมายุ 30 พรรษา) ในวัยหนุ่มฉกรรจ์เสด็จเมืองจีนอีกครั้ง เพื่อร้องเรียนกับจักรพรรดิจีนว่า พระราเมศวร ยึดราชบัลลังก์ไปจากพระเจ้าทองลั่นโดยไม่ชอบธรรม ส่งผลให้พระราเมศวรต้องรีบส่งทูตไปอธิบายกับจักรพรรดิจีนว่า เป็นการเปลี่ยนรัชกาลที่เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล
พ.ศ. 1938 เจา หลู่ ฉวิน อิน ส่งทูตไปเมืองจีนเพื่อทูลให้จักรพรรดิทรงทราบว่า พระราชบิดาของเจ้านครอินทร์ที่ครองเมืองสุพรรณบุรี สิ้นพระชนม์ลง (เข้าใจว่าพระองค์กลับไปครองเมืองสุพรรณบุรี สืบต่อจากพระบิดา) และได้ส่งทูตไปเมืองจีนอีกครั้งใน พ.ศ. 1941

   ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา – เปลี่ยนรัชกาลของวงศ์อู่ทอง
พระราเมศวรครองราชย์ได้ 7 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1938 ราชสมบัติจึงตกแก่ พระรามราชาธิราช ราชโอรสองค์ใหญ่

   ตัดฉากมาที่ราชสำนักจีน
พ.ศ. 1945 “ย่ง หลอ” จักรพรรดิองค์ใหม่ของราชวงศ์หมิง เสด็จขึ้นครองราชย์

   การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน (ต่อ)
ต้นปีพ.ศ. 1946 เจา หลู่ ฉวิน อิน ที่กลับไปครองเมืองสุพรรณฯ ฐานที่มั่นเดิมของวงศ์สุพรรณบุรี ส่งคณะทูตไปถวายพระพร จักรพรรดิ ย่ง หลอ ที่ขึ้นครองราชย์ ซึ่งคณะทูตได้รับการต้อนรับจากทางการจีนเหนือความคาดหมาย พร้อมกันนั้น จักรพรรดิจีนได้มอบ “โต๊ะ เนียว” คือ “ตรารูปอูฐกาไหล่เงิน-กาไหล่ทอง” ให้ราชทูตอัญเชิญมาถวาย เจา หลู่ ฉวิน อิน - นั่นเท่ากับว่า ทางการจีนยังคงรักษาไมตรีและให้ความเชื่อถือต่อ เจา หลู่ ฉวิน อิน เสมอมามิได้ขาด ขณะที่คณะทูตของพระรามราชาธิราชเดินทางไปถวายพระพรจักรพรรดิจีน ล่าช้าเกือบปลายปี 1946 และต่อมาในปี พ.ศ. 1949 เจา หลู่ ฉวิน อิน ส่งทูตไปเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง (ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของการเยือนจีนครั้งนี้)

   ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา – รัฐประหารครั้งที่ 3
พระนครอินทร์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก พระรามราชาธิราช ในปี พ.ศ. 1949 ได้สำเร็จ (เอกสารของจีนสมัยราชวงศ์หมิง และบันทึกของ วัน วลิต ระบุปีตรงกัน) ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระนครอินทร์ หรือ สมเด็จพระนครินทร์ หรือ สมเด็จพระอินทรราชา (เอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทย ระบุเป็นปี 1952)

   การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน (ต่อ)
หลังจาก พ.ศ. 1949 เป็นต้นไป “เจา หลู่ ฉวิน อิน” ไม่ปรากฏในเอกสารของทางการจีนอีกเลย (ปรากฏในพระนามใด ยังมิได้ค้นคว้า) อันสอดคล้องกับจดหมายเหตุของ วัน วลิต ที่ว่า พระนครอินทร์ ขึ้นครองราชย์ โดยการทำรัฐประหาร พระรามราชาธิราชในปี 1949
.......... ป.ล. บทความชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์ ขอนุญาตเพิ่มเติมในโอกาสหน้า

                                 ดร.ปริวรรต สาคร

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สงครามภูมิภาคอินโดจีน

 

                                   สงครามเวียดนามสงครามลาวและกัมพูชาที่เราทราบกันกินระยะเวลานาน มีเรื่องราวสมรภูมิรบหลายพ.ศ.มากมายหลายเรื่อง หลายสมรภูมิจนยากที่จะนำแต่ละเหตุการณ์มารวมให้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งๆที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน

                                    เวียดนามถูกแบ่งเป็นเหนือและใต้มานามมากจากยุคอาณาจักรราวพ.ศ.1400โน่นหล่ะครับ โดยจีนผนวกส่วนเหนือที่ดินแดนติดกันเข้ากับจีนแบบประเทศราช   ส่วนดินแดนตอนใต้หลากหลายเผ่าพันธุ์เป็นอาณาจักรจามปา ร้อยกว่าปีหลังจากนั้นเวียดนามเหนือพ้นประเทศราชจากจีนและทำสงครามยึดดินแดนด้านใต้รวมเป็นดินแดนเดียวกัน     มีกษัตริย์ราชวงศ์เลปกครองมายาวนานเกือบ300ปีมีกรุงฮานอยเป็น ศูนย์กลาง    เป็นยุคสมัยเดียวกับ อาณาจักรสยามที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศุนย์กลาง

                                   ราวพ.ศ.2070  อาณาจักรเวียดนามเกิดการสู้รบกันสามฝ่าย     ระหว่างชาวฮานอย  ชาวไดนาม และชาวเว้ ทำให้แยกเวียดนามตอนเหนืออาณาจักรตังเกี๋ย(ฮานอย)   ตอนกลางอาณาจักรโคชินไชนา(เว้ ) ตอนใต้ อาณาจักรอันนัม(ไดนาม ,เวียดนาม ) (ในตำราบอกเว้อยู่ใต้ อันนัมอยู่ภาคกลาง ไม่รู้ตำรามั่วหรือแผนที่โลกมั่ว)ช่วงนี้มีความสำคัญคล้ายกับกรุงศรีอยุธยา คือชาติตะวันตกเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและค้าขายภายใต้กองกำลังทางเรือของชาติตนที่คุ้มครอง   นำอารยะธรรมแบบตะวันตกและความทันสมัยในสิ่งประดิษฐ์และวิชาการสมัยใหม่แบบตะวันตก  รวมทั้งอาวุธต่างๆโดยใช้ราชสำนักในดินแดนต่างๆเป็นศูนย์กลางขยายอิทธิพลในดินแดนเอเชียต่างๆชาติที่กล่าวถึงคือฝรั่งเศส

                                   ราชวงศ์เหงียนที่ครองไดนามมีความเข้มแข็งที่สุดใน3อาณาจักร  ทำการรบพุ่งรวบรวมทั้งดินแดนเหนือและใต้ภายใต้การสนับสนุนของสยามและฝรั่งเศส    ทำให้เวียดนามรวมเป็นชาติเดียว(แต่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) มีจักรพรรดิยาลองแห่งราชวงศ์เหงียน ปกครอง       จากมิตรกลายเป็นศัตรูเมื่อการช่วยเหลือให้รวมอาณาจักรของฝรั่งเศสกลายเป็นข้อกำหนดสนธิสัญญาต่างๆที่แทรกแซงจักรพรรดิยาลองตั้งแต่พ.ศ.2427เรื่อยมา  ไซง่อนกลายเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสภายใต้สหพันธอินโดจีน ส่วนดินแดนตอนเหนือและตอนกลางเป็นรัฐในอารักขา   ฝรั่งเศสยังไม่สามารถเข้ายึดเป็นอาณานิคมได้สมบูรณ์เพราะอิทธิพลจีนและญี่ปุ่น ส่วนฝรั่งเศสประเทศแม่ ก็พ่ายแพ้ กองทัพเยอรมันของฮิตเล่อร์  และอินโดจีนฝรั่งเศส(เวียดนามลาวกัมพูชาถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดรวมทั้งสยามและพม่าก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกเข้ายึดไปหมดสิ้น ขณะที่ท่าทีรัฐบาลไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านไปพม่าอาณานิคมอังกฤษ14ตุลาคม 2483  รัฐบาลสยามส่งทูตไปเยอรมันชี้แจงเหตุจำเป็นที่ต้องเรียกร้องดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดครองไป ขณะเดียวกันกองทัพฝรั่งเศสในสหพันธอิโดจีนก็ประชิดตั้งแต่ด่านซ้าย จนถึงเกาะกงมีการรบด้วยกำลังทางอากาศและทางเรือ25 พฤศจิกายน2483กองทัพไทย เคลื่อนกำลังเข้าสู่สหพันธอินโดจีน กองทัพสยามด้านอิสานสถาปนาที่มั่นได้ทั้งจำปาสัก(ตอนนั้นลาวมี3ดินแดน คือหลวงพระบาง เวียงจันทร์ และจำปาสัก) ตลอดลงมาเสียมราฐ กองทัพบูรพาสถาปนาที่มั่นพระตะบอง ไพรินโพธิสัต กองทัพเรือควบคุมเกาะกงเกาะช้างเกาะและน่านน้ำเจ้าพระยาในปีถัดมาญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ยสยามและฝรั่งเศสจนตกลงกันโดยสยามเข้าปกครองดินแดนที่ได้กลับคืนจากฝรั่งเศสเมื่อ12กรกฏาคม 2485 แต่เพียงแค่3ปี

                                   2กันยายน2488   สิ้นสุดสงครามโลกด้วยความปราชัยของญี่ปุ่นต่อสัมพันธมิตรตะวันตก ฝรั่งเศสกลับมามีอิทธิพลในดินแดนอาณานิคมของตนอีกครั้ง รวมทั้งอเมริกาที่พิชิตญี่ปุ่นลงได้ ปีเดียวกันนั่นเอง ราชวงศ์เหงียนที่ปกครองเมืองไซ่ง่อนภาคใต้ของเวียดนาม เป็นอันสิ้นสุดเมื่อจักรพรรดิเบ๋าได๋ สละราชสมบัติ     ฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจเหนือดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสอีกครั้ง

                                ด้านชาวฮานอยและเว้  รวมกลุ่มกันต่อต้านฝรั่งเศส   เรียกกลุ่มต่อต้านของตนว่า “เวียดมินห์”มี  โฮจิมินห์ เป็นผู้นำขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส ภายใต้การสนับสนุนของจีนและโซเวียต   ต่างจากไซ่ง่อน ลาว และกัมพูชาภายใต้สหพันธ์อินโดจีนให้การสนับสนุน ฝรั่งเศสเพื่อพ้นอิทธิพลจากสยาม    มีขบวนการลาวอิสระเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ในกัมพูชาเกิดขบวนการเขมรอิสระต่อต้านฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน  

                                 2495 - 2496ขบวนการเรียกร้องเอกราชเวียดมินห์ และ กองทัพรบนอกประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลฝรั่งเศสได้เกิดการสู้รบกันอย่างหนัก เวียดมินห์รุกเข้ายึดหลวงพระบาง ทุ่งไหหินของสหพันธ์อินโดจีนลาวและกัมพูชาเอาไว้ เพื่อโอบลงมาไซ่ง่อน พร้อมตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธ ขบวนการ เวียดมินห์ เปิดยุทธการหน่าสาหนานใช้กองโจรขนาดเล็กแยกเข้าโจมตีหน่วยทหารฝรั่งเศสที่ตั้งรับบนเทือกเขาสูง ผลการรบคือฝ่ายเวียดมินห์พ่ายแพ้ยับเยิน ทำให้ฝรั่งเศสประเมินทัพเวียดมินห์ว่าสามารถกำจัดได้ไม่ยาก  กองทัพเวียดมินห์ที่แทรกซึมเข้าไปหลวงพระบาง  เพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดมินห์ไปลาวและโดดเดี่ยวกำลังเวียดมินห์ที่หลวงพระบางและทุ่งไหหิน

                                     2496เพื่อลดความขัดแย้งกับลาวฝรั่งเศสจึงปลดปล่อยลาว ให้เป็นเอกราชภายใต้การรวม3 ดินแดนเข้าด้วยกันมีเจ้าศรีสว่างวงศ์เป็นเจ้ามหาชีวิต       

                                    กองทัพฝรั่งเศสรบกับกองกำลังเวียดมินห์  ฝรั่งเศสเลือกที่ตั้งหน่วยทหารขนาดหมื่นนายโดยใช้สนามบินญี่ปุ่นเก่าจังหวัดเดียนเบียนฟูเมืองในหุบเขามีทางเข้าออกจำกัดล้อมรอบด้วยภูเขาสูงปิดกั้นช่องทางออกไปลาว  และมั่นใจที่จะสามารถตั้งรับและทำลายกองทัพเวียดมินห์ที่บุกเข้าโจมตีได้    แต่ตรงข้ามเวียดมินห์นำปืนใหญ่ขึ้นภูสูงยิงถล่มฝรั่งเศส  กำลังรบทหารราบเดินเท้าใช้ยุทธวิธี  ขุดสนามเพลาะและอุโมงค์รุกคืบหน้าเข้าหาที่ตั้งฝรั่งเศส ด้วยการเข้าตีเป็นระลอกเมื่อสิ้นสุดการระดมยิงของปืนใหญ่ฝรั่งเศส ในที่สุดฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้  ทหารเกือบ12,000นายถูกจับเป็นเชลย 7พฤษภาคม 2497  ฝรั่งเศสประกาศยอมจำนน ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้อาณานิคมฝรั่งเศสอื่นๆเรียกร้องเอกราชด้วยเช่นกัน สหพันธอินโดจีนสิ้นสุดเมื่อกองทัพฝรั่งเศสถอนออกจากเวียดนาม

                                  การประชุมที่นครเจนีวา 8 พฤษภาคม 2497ทำให้สหพันธอินโดจีนฝรั่งเศสที่ประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เวียดนาม    โดยเวียดนามถูกแบ่งเป็นการชั่วคราวส่วนเหนือเส้นขนานที่เป็นประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนเวียดนาม(เวียดนามเหนือ) ส่วนเวียดนามส่วนใต้ลาว และกัมพูชายังคงเป็นสหพันธอินโดจีนที่ฝรั่งเศสสนับสนุนเช่นเดิม โดยมติที่ประชุมเห็นควรให้เวียดนามส่วนใต้รวมกับส่วนเหนือเมื่อผ่านการเลือกตั้งและทำประชามติ

                                  กัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศสจากการประชุมที่เจนีวา มีพระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤตเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระนโรดมสีหนุราชโอรสเป็นผู้นำรัฐบาลมีนโยบายต่อต้านสยามและไซ่ง่อน ดังนั้นกัมพูชาเลยเป็นพันธมิตรกับจีนโซเวียตและฮานอย

                                 ไซ่ง่อนได้ประกาศเอกราชหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากอินโดจีนโดยอดีตจักรพรรดิเบ๋าได๋มีโง ดินห์ เดียมเป็นนายกรัฐมนตรี สหรัฐเล็งเห็นความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆในอินโดจีน

                                 ฮานอยซึ่งใช้ระบอบคอมนิสต์ปกครอง มีจีนและโซเวียตสนับสนุนสามารถทำสงครามชนะฝรั่งเศส

                                 ลาว เจ้าสุกานุวงศ์นั้นสนับสนุนแนวทางเวียดมินห์มีกองกำลังที่เข้มแข็งทั้งจีนและฮานอยสนับสนุน 

                                 กัมพูชาพระนโรดมสีหนุนั้นนิยมแนวทางฮานอยและมีจีนให้การสนับสนุน  

                                 ที่สำคัญที่สุดหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงดินแดนเกาหลีที่ญี่ปุ่นยึดครองถูกแบ่งเป็นเหนือและใต้โดยเกาหลีเหนือโซเวียตยึดครอง ส่วนเกาหลีใต้อเมริกาสนับสนุนแต่อเมริกานั้นมีสภาพเดียวกับฝรั่งเศสคอดินแดนห่างไกลเมื่อเกิดการรบระหว่าง2ชาติเกาหลีใต้จึงเสียเปรียบอเมริกาต้องถอยร่นจนมุมจนต้องมีการระดมกำลังทหารสหประชาชาติเข้าทำการยกพลขึ้นบกที่อินซอนจึงพลิกกลับมาได้เปรียบและเปิดการเจรจาสงบศึกเมื่อ 27กรกฏาคม 2496

                                 เมื่ออเมริกาเห็นภัยคุกคามต่อประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอินโดจีนอเมริกาจึงสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเพื่อรับมือฮานอยอย่างเต็มที่  การประชุมที่เจนีวา8 พฤษภาคม 2497กำหนดให้เวียดนามรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวใน1ปีหลังจักรพรรดิเบ๋าได๋ปกครองได้ไม่นานหากตามสนธิสัญญาต้องรวมกับเวียดนามเหนือซึ่งปกครองด้วยระบอบโฮจิมินห์คอมนืสต์หากเป็นตามนั้นนายกรัฐมนตรีโงดินห์เดียม ที่นิยมขวาจัดไม่สามารถยอมได้จึงทำรัฐประหารจักรพรรดิเบ๋าได๋ให้สละราชสมบัติและเลือกตั้งทั่วไป โงดินห์ดียมชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกพร้อมไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญา ดังนั้นเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้จึงเป็นสัตรูกันโดยปริยาย

                                แนวโน้มการเกิดการสู้รบระหว่าง สอง ระบอบปกครองคงเกิดขึ้นในไม่ช้า พร้อมการเตรียมการด้านต่างๆเพื่อทำสงครามของทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้  พร้อมมิตรประเทศของทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มกำลัง เข้าสมรภูมิอย่างเต็มที่โดยเวียดนามเหนือส่งกองกำลังเข้าปฏิบัติการทางทหารในเวียดนามใต้ ในพ.ศ.2502เป็นต้นมา  สงครามเวียดนามยุติในพ.ศ.2518เวียดนามมีหนึ่งเดียว แต่ภูมิภาคยังมีสงครามต่อเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างสยามลาวและกัมพูชาที่ปักปันครั้งสหพันธอิโดจีนฝรั่งเศสและสงครามกลางเมืองในกัมพูชาถึง เดือนกันยายน 2532 เวียดนามถอนกำลังทหารออกจากกัมพูชาคืนสู่มาตุภูมิ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------