ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศึกกรุงชิง นครศรีธรรมราช



ยุทธการกรุงชิง
 
การปราบปรามผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ภาคใต้
 
      สาเหตุของการจัดทหารนาวิกโยธินปราบปรามก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในเขตจังหวัดภาคใต้สืบเนื่องจากค่ายกรุงชิงซึ่งเป็นค่าย ผกค.อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ ๔ ของกองทัพบก และกองทัพภาคที่ ๔ ไดส่งกำลังเข้าปราบปราม ผกค. ณ ที่แห่งนี้หลายครั้ง แต่ ผกค.ในพื้นที่ส่วนนี้ก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวไม่หมดสิ้น เนื่องจากขาดแคลนกำลังพล กองทัพภาคที่ ๔ กองทัพบก จึงได้ขอกำลังทหารนาวิกโยธิน จำนวน ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลังสนับสนุนในการปราบปราม ผกค.กลุ่มนี้ และในที่สุดกองบัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้อนุมัติตามข้อเสนอของกองทัพบกและได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.๒๕๒๐ โดยประกอบกำลังเป็น
 
ฉก.นย.๒๐๑
 
       หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑ (ฉก.นย.๒๐๑) จัดกำลังจาก พัน.ร.๘ ผส.นย.สมทบด้วย ตชด. ๑ มว.จำนวน ๒๕ นาย และ ทบ. ๑ มว.มี น.ท.ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ ผบ.พัน.ร.๘ ผส.นย.เป็น ผบ.ฉก.ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ ทภ.๔ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ก.ค.๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๒๐ ต.ค.๒๕๒๐ การปฏิบัติที่สำคัญคือ การนำกำลังเข้าปราบปราม ผกค.ที่ค่ายกรุงชิง ต.นพพิตำ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ได้ยึดและทำลายค่าย กรุงชิงสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๐
 
 
การปราบปรามผู้ก่อการร้าย
 
      ปี ๒๕๒๐ กองทัพบกพิจารณาเห็นว่า “ทหารนาวิกโยธิน” มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติการด้านการรบบนบกได้ดี เช่นเดียวกับทหารบก จึงได้ร้องขอไปยังกองทัพเรือให้พิจารณาจัดทหารนาวิกโยธิน ไปช่วยปฏิบัติราชการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ ๔ ดังนั้น กองทัพเรือจึงได้มอบหมายให้ กองพันทหารราบที่ ๘ กรมผสมนาวิกโยธิน ออกไปปฏิบัติราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ตามแผนยุทธการที่ ๑ ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกในท้องที่ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๒๐ ในนาม “หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑ หรือ หน่วยเฉพาะกิจทักษิณ”
      “ กรุงชิง” เป็นชื่อเรียกขานของชาวบ้านมาช้านาน อยู่ในเขตบ้านนพพิตำ ต.โรงเหล็ก อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ลักษณะภูมิประเทศเป็นก้นกระทะ ป่ารกทึบ มีเขาหลวง, เขาปรายกระทูน, เขาเคี่ยม, เขากลม และเขาหลวงล้อมรอบ มีคลองกรุงชิงไหลผ่านออกสู่คลองกาย และออกสู่ทะเล จากสถานการณ์ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๑๙ ผกค.ในเขต อ.ฉวาง กิ่ง อ.พิปูน และ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช เริ่มออกเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชน โฆษณาชวนเชื่อตลอดจนรวบรวมสมัครพรรคพวกไว้เป็นจำนวนมากทำให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลสูงขึ้นสามารถรวบรวมอาวุธ ซึ่งได้จากการโจมตีเจ้าหน้าที่รวมทั้งยึดเครื่องมือสื่อสารได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์รวมตัวจัดตั้งเป็น “ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ในเขตนครศรีธรรมราช เพิ่มความรุนแรงในการปฏิบัติการต่อต้านโจมตี
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมากขึ้น และยังสามารถขยายเขตงานออกเป็น ๔ เขต ดังนี้
       ๑. เขตงาน ๓๑ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวกรุงชิง บ้านนพพิตำ ต.โรงเหล็ก อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช มี นายจิตร จงจิตร เป็นหัวหน้า
       ๒. เขตงาน ๓๒ ตั้งอยู่บริเวณเหนือคลองใหญ่ กิ่ง อ.พิปูน จว.นครศรีธรรมราช
       ๓. เขตงาน ๓๓ ตั้งอยู่บริเวณ ต.เขาแก้ว อ.ลานสกา จว.นครศรีธรรมราช
       ๔. เขตงาน ๓๔ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวศรีเมือง ต.สามตำบล อ.ร่อนพิบูลย์ จว.นครศรีธรรมราช
       เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ พัน.ร.๘ ผส.นย.ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือให้เตรียมกำลังเป็น “ฉก.นย.๒๐๑” เพื่อปราบปราม ผกค.ในพื้นที่ จว.นครศรีธรรมราช โดย พัน.ร.๘ ผส.นย.เป็นกำลังหลักในการจัดกำลัง ๒ กองร้อยปืนเล็ก และ พัน.ร.๓ ผส.นย. ๑ กองร้อยปืนเล็ก กำลังพลที่มาสมทบจัดมาจาก ผส.นย.๑ กองร้อยปืนใหญ่, มว.สื่อสาร, มว.ลว., มว.ช. และ มว.พ. ทำการสนธิกำลังที่ พัน.ร.๘ ผส.นย. และได้ดำเนินการฝึกเตรียมที่บริเวณ บ.วังพา ต.ทุ่งตำเสา, บ.เขารูปช้าง, บ.สวนตูล และ บ.เก้าเส้ง อ.เมือง จว.สงขลา
      จนกระทั่งวันที่ ๒๓ ก.พ.๒๕๒๐ เวลา ๐๖๐๐ กำลัง ฉก.นย.๒๐๑ ได้เคลื่อนย้ายด้วยขบวนรถยนต์เข้าพื้นที่ปฏิบัติการ ณ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช โดย ร้อย.ปล.ที่ ๑ เข้าปฏิบัติการบริเวณบ้านวังเลา อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ร้อย.ปล.ที่ ๒ และ ร้อย.ป.เข้าตั้งฐานบริเวณบ้านโรงเหล็ก อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ เข้าตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณบ้านวังเลา อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช และ ทก.ฉก.นย.๒๐๑ มว.ส., มว.ช., มว.ลว.และ มว.พ. เข้าตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณ บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ทุกหน่วยเข้าพื้นที่เรียบร้อยเมื่อ ๒๓ ก.พ.๒๐ เวลา ๑๕๐๐ ภารกิจในขั้นต้น ฉก.นย.๒๐๑ ได้ทำการด้านการข่าว โดยออกพบปะประชาชนรอบ ๆ ฐานปฏิบัติการพร้อมกับทำการลาดตระเวนในพื้นที่
        ยุทธการครั้งสำคัญของ ” ทหารนาวิกโยธิน” ได้ถูกกำหนดให้ วันที่ ๒๒ มี.ค.๒๐ เป็นเวลา -น.วัน -ว.ร้อย.๑, ๒ และ ๓ เคลื่อนกำลังเข้าสู่เป้าหมาย โดยกำหนดเขตงาน ๓๑ หรือค่ายกรุงชิงเป็นเป้าหมายโดย
        ร้อย.ปล.ที่ ๑ ฯ ร.อ.ธีรพันธ์ ทิมประเสริฐ เป็น ผบ.ร้อย.ฯ เข้าตีทางปีกขวา (เป็นค้อน)
        ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ร.อ.เบญจะ อินทรประชา เป็น ผบ.ร้อย.ฯ เข้าตีทางปีกซ้าย (เป็นค้อน)
        ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ ร.อ.ต่อบุญ ไกรฤกษ์ เป็น ผบ.ร้อย.ฯ เข้ายึดที่หมาย บ้านนพพิตำ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช (เป็นทั่ง)
         ร.ต.ประทีป ตัณฑิกุล (ยศในขณะนั้น ปัจจุบัน ยศ. น.ต.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผบ.มว.ปืนเล็กที่ ๓ กองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ในยุทธการกรุงชิง ได้บันทึกบทเรียนและ ประสบการณ์ไว้ดังนี้
        ๑. การรบมีความละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจในตัวของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน ความเป็นผู้นำสำคัญมาก ทุกคนเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ผมโชคดีที่ได้ ผบ.หมู่ที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยมทั้ง ๓ นาย นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นปัจจัยที่ทำให้การปฏิบัติภารกิจ
เป็นผลสำเร็จ
       ๒. มีประสบการณ์ในการขอรับการสนับสนุน ป.และ บ.เพื่อช่วยในการปฏิบัติภารกิจ
       ๓. มีประสบการณ์ในการทำสนามรับ ฮ. รับ-ส่ง เสบียงในรอบ ๓ วัน ในพื้นที่เป็นป่ารกทึบ
       ๔. การเคลื่อนที่ บุคคลห่างไม่น้อยกว่า ๑๐ ก้าวไม่ว่าหน้ากระดานหรือตามกันป้องกันรัศมีระเบิดระหว่างคนเหยียบกับคนเดินและเดินหลังปลอดภัยกว่า
       ๕. การพร้อมใช้อาวุธระหว่างเคลื่อนที่ใช้เฉียงอาวุธ เวลายิงใช้ประทับบ่าเท่านั้น (เลิกใช้ประทับสะโพกเพราะไม่ได้ผล)
        ๖. แก้ปัญหาเฉพาะกับระเบิด (หนวดกุ้ง) ใช้ไม้ไผ่แห้งยาวประมาณ ๑๐ ม.กวาดล้าง (เพราะพื้นราบ) ปลอดภัยขึ้นมาก ในป่าเดินตามรากไม้และก้อนหิน
        ๗. การพัฒนาตนเองในการทำหน้าที่เป็นผู้นำหน่วยในการรบและที่ภูมิใจที่สุด คือกำลังพลที่อยู่ในความรับผิดชอบ ได้กลับที่ตั้งปกติครบ ๔๘ นาย
       จ.อ.ปริญญา ย้อยพลแสน (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันยศ ร.อ.) ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผบ.หมู่ปืนเล็กที่ ๒ มว.ปืนเล็กที่ ๓ กองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ในยุทธการกรุงชิง ได้บันทึกบทเรียนจากการปฏิบัติไว้ดังนี้
        ๑. การแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมให้กับหน่วยที่ปฏิบัติงานในสนาม ถ้าเป็นอาวุธที่จัดหามาใหม่ควรจะต้องมีการแนะนำให้กับกำลังพลเสียก่อน อย่าคิดกำลังพลทุกนายรู้เพราะถ้าใช้ไม่เป็นจะกลายเป็นเรื่องเสียหาย
        ๒. พลทหารผ่านการฝึกด้วยกระสุนจริงน้อยมากเมื่อไปเจอเหตุการณ์จริง ๆ ก็ตื่นเต้นระงับจิตใจไม่อยู่
        ๓. สอนให้เป็นคนที่ละเอียดรอบคอบทุก ๆ เรื่อง
        ๔.มีประสบการณ์ในการขอปืนใหญ่,ขอเครื่องบินเพื่อมาสนับสนุนเป็นอย่างดีและเห็นความละเอียดรอบคอบของนายทหารปืนใหญ่ (ร.ท.สมร ฯ ) ที่ทำตำบลยิงคุ้มครองเส้นทางให้กับหน่วย ทำให้การสูญเสียลดน้อยลง
        ๕. รู้จักการหากินในป่าในขณะที่อดข้าว, อดน้ำ, รู้จักวิธีทำสนาม ฮ.เพื่อรับส่งเสบียง
        ๖. สามารถทำกับระเบิดแสวงเครื่องได้เกือบทุกประเภท
       ๗. ได้นำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบเห็นมาเอาไปสอนนักเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ
ผลการปฏิบัติ
       - ปะทะกับ ผกค. ๓๒ ครั้ง
       - ถูกกับระเบิดของ ผกค. ๒๕ ครั้ง
       - ถูก ผกค.ซุ่มโจมตี ๒๕ ครั้ง
       - ถูก ผกค.ยิงรบกวนฐานปฏิบัติการ ๒๕ ครั้ง
       - ยึดค่ายพักของ ผกค.ได้ ๘๑ หลัง
       - ยึดยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกได้ ๔ หลัง
       - ยึดโรงงานยาสูบของ ผกค.ได้ ๒ หลัง
       - ยึดโรงเลื่อยของ ผกค.ได้ ๒ หลัง
       - ยึดไร่ผักขนาดใหญ่ได้ ๒ แห่ง
สรุปการสูญเสีย
๑. ฝ่ายเรา
       - เสียชีวิต ๘ นาย
       - บาดเจ็บสาหัส ๓๙ นาย (ในจำนวนนี้มี ตชด. ๖ นาย และ ทบ. ๒ นาย)
       - บาดเจ็บเล็กน้อย ๒๗ นาย
๒. ฝ่าย ผกค.
      - เสียชีวิต ๕ คน
      - มอบตัว ๕๒ คน
      - แนวร่วมถูกจับกุม ๑๒๔ คน
รายชื่อผู้เสียชีวิตฝ่ายเรา
       ๑. ร.อ.สมทบ กุลศิลารัตน
       ๒. จ.อ.สำราญ เล็กวิลาส
       ๓. จ.อ.ธีระพล ไผ่พันโฉม
       ๔. จ.อ.ชาญศักดิ์ ศรีนิ่ม
       ๕. จ.อ.ไพบูลย์ โชติสาร
        ๖. จ.อ.วีระ รัตนโชติ
        ๗. จ.อ.จรินทร์ เทียนพจน์
        ๘. พลฯ ประดิษฐ์ ปานเมือง
       เมื่อใกล้จะสิ้นสุดปีงบประมาณ ๒๕๒๐ ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๐ กองทัพเรือได้เชิญหน่วยต่าง ๆ ของ ทร.ที่เกี่ยวข้อง ไปประชุมร่วมกันพิจารณาว่าการที่จัด ทหารนาวิกโยธินสนับสนุน ทภ.๔/กอ.รส.ต.ในปีงบประมาณ ๒๕๒๐ อยู่ถึง ๒ กองพัน คือ พัน.ร.๗ ผส.นย.จัดกำลังเป็น ฉก.นย.๑๙๒ ปราบปราม ขจก.และ จคม.ในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ และ พัน.ร.๘ ผส.นย.สนธิกำลังกับ พัน.ร.๓ ผส.นย.จัดกำลังเป็น ฉก.นย.๒๐๑ ปราบปราม ผกค.อยู่บริเวณค่ายกรุงชิง จว.นครศรีธรรมราช นั้น
       ในปีงบประมาณ ๒๕๒๑ ที่จะมาถึงในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ นี้หากจะให้จัดกำลังกองพันทหารราบนาวิกโยธินไปผลัดเปลี่ยน ๒ กองพัน คือ ผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๑๙๒ และ ฉก.นย.๒๐๑ พร้อมกันแล้ว นย.ขาดแคลนหน่วยที่จะจัดกำลังไปผลัดเปลี่ยนเช่นนั้นได้ด้วยเหตุผลดังนี้
       ๑. หากจะจัดไปผลัดเปลี่ยน ๒ กองพัน ก็จะมีบางกองพันต้องใช้ชุดเดิมซ้ำกัน เพราะขณะนั้น นย.มีอยู่เพียง ๕ กองพัน คือ พัน.ร.๑,๒,๓,๗,๘ สำหรับ พัน.ร.๒ ผส.นย.นั้น ต้องรับภาระป้องกันชายแดนด้านจันทบุรีและตราดอยู่แล้ว ไม่สามารถจัดเป็นกองพันไปผลัดเปลี่ยนได้
       ๒. ขณะนั้น นย.ต้องจัดกำลังจาก พัน.ร.ที่เหลือ ๔ กองพัน ไปเป็น ร้อย.นย.นปข.อีกด้วย ทำให้กองพันที่เหลืออยู่มีไม่ถึง ๒ กองพัน
       ๓. ขณะนั้น สถานการณ์ชายแดนด้านจันทบุรีและตราดเริ่มรุนแรงขึ้น นย.จำเป็นจะต้องมีกองพันหนุน เตรียมไว้รับสถานการณ์ด้านนี้ จึงไม่ควรจัดกำลังไปปฏิบัติการในภาคใต้จนหมดหน่วย
       ๔. นย.มีภารกิจต้องจัดกำลังไว้ ๒ พัน.ร.เป็นกองหนุนทั่วไปของ ทร. เพื่อใช้ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบและการจลาจลที่จะเกิดขึ้นใน กทม.
       ที่ประชุมของกองทัพเรือ จึงมีความเห็นเป็นข้อยุติการประชุมว่า ควรจะส่งกำลัง นย.ไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๑๙๒ เพียงกองพันเดียว ส่วน ฉก.นย.๒๐๑ ที่ จว.นครศรีธรรมราชนั้น ได้กวาดล้าง ผกค.และทำลายค่ายพัก ผกค.จนหมดสิ้นแล้ว และสถานการณ์ก็ดีขึ้น จนเป็นที่น่าพอใจแล้วควรถอนกำลัง
ฉก.นย.๒๐๑ กลับได้ เช่นเดียวกับที่ ทบ.ถอนกำลังของตน ๑ พัน.ร. ที่ จว.สุราษฏร์ธานี กลับไปก่อนแล้ว
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ผบ.ทหารสูงสุด/รมว.กห.พิจารณาเห็นว่าสถานการณ์ของ ผกค.ที่ จว.นครศรีธรรมราช ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจจึงต้องการให้จัดกำลัง นย.อีก ๑ กองพันไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๒๐๑ ที่ จว.นครศรีธรรมราช สรุปว่าในปี งป.๒๑ นี้ นย.ต้องหาหนทางจัดกำลัง ๒ กองพัน ไปผลัดเปลี่ยนกำลัง ฉก.นย.๑๙๒ และ ฉก.นย.๒๐๑ พร้อมกัน
 
การแก้ปัญหาของ นย.
 
       นย.จึงต้องหาทางแก้ปัญหา เพื่อจัดกำลังไปผลัดเปลี่ยน ๒ กองพันพร้อมกันที่ภาคใต้ และจะต้องจัดอีก ๑ กองร้อย.นย.นปข.ไปผลัดเปลี่ยนที่ นปข.ให้ได้ และ นย.ได้แก้ปัญหาดังนี้
       ๑. ให้กำลังพล ๑๘๐ นาย จาก ฉก.นย.๑๙๒ (พัน.ร.๗ ผส.นย.) ออกเดินทางกลับจาก จว.นราธิวาสก่อนกำลังส่วนใหญ่ประมาณ ๒ เดือน คือ เดินทางกลับ พัน.ร.๗ ผส.นย.(ระยอง) ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๐ เพื่อให้พักผ่อนประมาณ ๒๐ วัน แล้วจัดกำลังส่วนนี้เป็น ร้อย.นย.นปข.ผลัดที่ ๓ เดินทางไปผลัดเปลี่ยน ร้อย.นย.นปข.ผลัดที่ ๒ ที่ จว.นครพนม ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๐
       ๒. ให้กำลัง ๑ ร้อย.ปล.ของ พัน.ร.๓ ผส.นย.ซึ่งสนธิกำลังอยู่กับ ฉก.นย.๒๐๑ อยู่ที่ จว.นครศรีธรรมราช เดินทางกลับ พัน.ร.๓ ผส.นย.ที่สัตหีบก่อนกำลังส่วนใหญ่ เพื่อพักผ่อนประมาณ ๕๐ วัน แล้วสนธิกำลังส่วนนี้ร่วมเป็น ฉก.นย.๒๐๓ ไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๑๙๒ ที่ จว.นราธิวาส
       ๓. ร้อย.นย.นปข.ผลัดที่ ๒ ซึ่งเป็นกำลังพลของ พัน.ร.๓ ผส.นย.เมื่อเดินทางจากจังหวัดนครพนมกลับสัตหีบแล้ว ให้มีเวลาพักผ่อนประมาณ ๓๐ วัน แล้วสนธิกำลังร่วมเป็น ฉก.นย.๒๐๓ ไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๑๙๒ ที่ จว.นราธิวาส
       สรุปว่า ด้วยการแก้ปัญหาของ นย.ดังกล่าว จึงสามารถให้ พัน.ร.๑ ผส.นย.จัดกำลังเป็น ฉก.นย.๒๐๒ ไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๒๐๑ ที่ จว.นครศรีธรรมราช และให้ พัน.ร.๓ ผส.นย.จัดกำลังเป็น ฉก.นย.๒๐๓ ไปผลัดเปลี่ยน ฉก.นย.๑๙๒ ที่ จว.นราธิวาส กับให้ พัน.ร.๗ ผส.นย.จัดกำลัง ร้อย.นย.นปข.ผลัดที่ ๓ ไปผลัดเปลี่ยนผลัดที่ ๒ ที่ จว.นครพนม สำเร็จลุล่วงไปได้
       จะเห็นได้ว่า ด้วยการแก้ปัญหาอย่างนี้ ทำให้ ๒ กองร้อยปืนเล็กของ พัน.ร.๓ ผส.นย.และ ๑ กองร้อยปืนเล็กของ พัน.ร.๗ ผส.นย.ต้องปฏิบัติราชการชายแดนนี้ซ้ำกัน ๒ ปี
       พัน.ร.๑ ผส.นย.เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง ฉก.นย.๒๐๒ ประกอบด้วย บก.ฉก.นย.๒๐๒, ร้อย.บก.และบริการ, ๓ กองร้อยปืนเล็ก, ๑ กองร้อยปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.และ ๑ หมวดบินทหารเรือ กำลังพล ๗๔๕ นาย มี น.ท.บุญเกิด จูภาวัง ผบ.พัน.ร.๑ ผส.นย.เป็น ผบ.ฉก.นย.๒๐๒
       ฉก.นย.๒๐๒ สนธิกำลังที่สัตหีบ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ ออกเดินทางโดยทางเรือจากสัตหีบ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ ขึ้นบกที่ สน.สข.วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๐ แล้วเคลื่อนย้ายโดยยานยนต์ไปเข้าที่รวมพลขั้นต้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
       ฉก.นย.๒๐๒ รายงานขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับ ทภ.๔/กอ.รส.ต.ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๐ จนถึงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๐ จนถึงวันที ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๐ จนถึงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๑ หลังจากจบภารกิจแล้ว ได้เดินทางกลับโดยทางรถไฟจากนครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ และเดินทางต่อด้วยยานยนต์กลับที่ตั้งปกติที่ พัน.ร.๑ ผส.นย.ค่ายแสมสาร เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๑
       ขณะนั้น กรมนาวิกโยธินได้รับการปรับกำลังใหม่ โดยยุบเลิกการจัด ผส.นย.และจัดตั้งขึ้นเป็น ๒ กรมทหารราบ ฉะนั้น เมื่อเลิกการสนธิกำลัง ฉก.นย.๒๐๒ แล้ว จึงกลับที่ตั้งปกติที่ พัน.ร.๑ กรม ร.๑ นย.
 
เรือเอก วทินนา พึ่งพระเกียรติ
ได้รับพระราชทาน เหรียญ “ รามาธิบดี”
 
 
       จากผลงานอันดีเด่นของ ฉก.นย.๒๐๒ ดังกล่าวมาเป็นผลให้ เรือเอก วทินนา พึ่งพระเกียรติเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฉก.นย.๒๐๒ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นเหรียญรามมาลา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เวลา ๑๒๐๐
       นอกจากเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลของ เรือเอก วทินนา พึ่งพระเกียรติ แล้ว ยังนำชื่อเสียงมาสู่ กรมนาวิกโยธินและทหารนาวิกโยธินทุกคนด้วย
       แม้ว่าจะได้ส่งกำลังนาวิกโยธิน ฉก.นย.๒๐๑ และ ฉก.นย.๒๐๒ ปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อเนื่องกันมา ๒ ปีแล้วก็ตาม ผกค.ก็ยังไม่ถูกปราบปรามให้หมดสิ้นไป จึงได้ส่ง ฉก.นย.๒๑๘๑ไปผลัดเปลี่ยนกำลังของ ฉก.นย.๒๐๒
       ฉก.นย.๒๑๘๑ สนธิกำลังจาก พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย. ประกอบด้วย บก.ฉก.นย.๒๑๘๑, ร้อย.บก.และบริการ, ๓ กองร้อยปืนเล็ก, ๑ กองร้อยปืนใหญ่ ๑๐๕ มม., ๑ หมวดบินทหารเรือ มี นาวาโทชุมพร โชติโยธิน ผบ.พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย.เป็น ผบ.ฉก.นย.๒๑๘๑ ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับ ทภ.๔/กอ.รส.ต.ปฏิบัติภารกิจจนครบ ๑ ปี
       ต่อมาเมื่อ ปี งป.๒๓ พัน.ร.๗ กรม ร.๓ นย.(น.ท.มานิตย์ ดีมาก เป็น ผบ.พัน.ฯ) ได้รับมอบภารกิจในการป้องกันและปราบปราม ผกค.ในพื้นที่ จว.นครศรีธรรมราช หลายอำเภอ ได้แก่ อ.ท่าศาลา, อ.สิชล, อ.ขนอม, อ.พรหมคีรี, อ.ลานสกา และ อ.เมืองฯ บางส่วน ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ ถึง ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ดังนั้น ในปี งป.๒๒ ก่อนออกปฏิบัติการจริง จึงเป็นการฝึกเตรียมหน่วยและเตรียมการในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ในปีนั้นมีการฝึกร่วมกับ นย.สหรัฐอเมริกาจริง จึงเป็นการฝึกเตรียมหน่วยและเตรียมการในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ (ในปีนั้นมีการฝึกร่วมกับ นย.สหรัฐอเมริกา แทรกมา ๑ ครั้ง เป็นการฝึกยกพลขึ้นบกระดับ BLT) หน่วยเฉพาะกิจที่จัดตั้งในครั้งนั้นมีชื่อว่า หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ๒๒๗๑ (ฉก.นย.๒๒๗๑) เตรียมไปรับมอบหน้าที่ต่อจาก ฉก.นย.๒๒๘๑ ที่ พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย.(น.ท.ชุมพร โชติโยธิน เป็น ผบ.พัน.ฯ) เป็นหลักในการจัดกำลัง และเมื่อ ฉก.นย.๒๒๗๑ ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว จะส่งหน้าที่ต่อให้ ฉก.นย.๒๓๙๓ ที่ พัน.ร.๙ กรม ร.๓ นย.(น.ท.ถาวร วัฒนารมย์ เป็น ผบ.พัน.ฯ) เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง
       ตัวเลข ๔ ตัว ที่ตามหลัง ฉก.นย.นั้น พล.ร.ท.ยุทธยา เชิดบุญเมือง ผบ.นย.ในขณะนั้นเป็นผู้กำหนดขึ้น เพราะเดิมใช้ตัวเลข ๓ ตัวเช่น ฉก.นย.๑๗๑, ฉก.นย.๑๘๑, ฉก.นย.๑๘๒, ฉก.นย.๑๘๓, ฉก.นย.๒๐๑, ฉก.นย.๒๐๒ เป็นต้น ท่านกล่าวว่าดูแล้วไม่ทราบว่าหน่วยใดจัดกำลังมา ท่านจึงกำหนดให้ใช้เลขท้ายปี พ.ศ.ที่ไปปฏิบัติงาน ๒ ตัว เป็นหมายเลขนำหน้า ตัวที่ ๓ เป็นหมายเลขกองพันหลักที่จัดกำลัง และตัวที่ ๔ เป็นครั้งที่จัดกำลังของกองพันหลักที่จัด การจัดกำลังของ พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย.ที่ไปปฏิบัติภารกิจที่ จว.นครศรีธรรมราช เมื่อปี งป.๒๑ นั้น ตามความเป็นจริงเป็นการไปปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว แต่ท่านให้เริ่มนับใหม่จึงกลายเป็น ฉก.นย.๒๑๘๑ และ พัน.ร.๙ กรม ร.๓ นย.(ฉก.นย.๒๓๙๓) ซึ่งไปรับหน้าที่ต่อจาก พัน.ร.๗ กรม ร.๓ นย.(ฉก.นย.๒๒๗๑) นั้น เป็นการจัดกำลังไปปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งที่ ๓ (ครั้งที่ ๑ และ ๒ เป็น ฉก.นย.๒๑๙๑ และ ๒๒๙๒ ตามลำดับ ปฏิบัติภารกิจใน จว.นราธิวาส) ภายหลังต่อมาการกำหนด ฉก.นย.แล้วตามด้วยตัวเลข ๔ ตัวยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ลดน้อยลงไป และกำหนดให้เป็นชื่อกลาง ๆ ไปหมด เช่น ฉก.นย.ภาคใต้, ฉก.นย.จันทบุรี,ฉก.นย.ตราด เป็นต้น
       ฉก.นย.๒๒๗๑ สนธิกำลังที่ค่ายมหาสุรสิงหนาท จว.ระยอง เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๒ ก่อนการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจได้มีการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กำลังพลมากพอสมควร เช่น จัดให้มีงานรื่นเริงพบปะสังสรรค์ในครอบครัวของพวกเรานิมนต์ท่านอาจารย์ กัสปมุนี วัดปิผลิวนาราม อ.บ้านค่าย มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วแถวไปกราบทูลลา พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ออกเดินทางจากค่ายมหาสุรสิงหนาท ในวันศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๒ ลงเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบ และออกเดินทางไป จว.สงขลา ในคืนวันนั้นเวลา ๒๐๓๐ โดย ร.ล.ลันดา, ร.ล.พระทอง และ ร.ล.ไผ่ กำลังส่วนใหญ่ไปถึง จว.สงขลา ในวันอาทิตย์ที่ ๓๐ กันยายน เวลา ๐๖๓๐ ร.ล.ไผ่ ขัดข้องหลังจากออกเดินทางได้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ต้องกลับไปซ่อมที่ฐานทัพเรือสัตหีบ การแก้ไขไม่สำเร็จ กองทัพเรือจัด ร.ล.ช้าง ไปเปลี่ยนแทน กำลังพลส่วนนี้เดินทางไปถึง จว.สงขลา วันพุธที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๒ หน่วยที่เดินทางไปกับ ร.ล.ช้าง คือ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ มี ร.อ.จำรัส เผือกประพันธ์ เป็น ผบ.ร้อย.ฯ เข้ารับผิดชอบพื้นที่ที่บ้านนพพิตำ ทำให้การผลัดเปลี่ยนกำลังพลล่าช้าไป ๑ จุด
       หลังจากรับหน้าที่ได้ ๔ วัน ผกค.ก็ต้อนรับพวกเราด้วยการโจมตี และเผาที่ว่าการอำเภอขนอม ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๒ เวลาประมาณ ๐๑๐๐ โดยที่พวกเราไม่มีโอกาสทราบ และส่งกำลังไปช่วยเหลือได้เลย เพราะกำลังหน่วยที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ อ.สิชล ซึ่งนับว่าไกลพอสมควร ที่สำคัญคือไม่ได้รับการแจ้งข่าวสารใด ๆ จากหน่วยใดทั้งสิ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดพื้นที่รับผิดชอบ มีปะทะกันบ้าง เราซุ่มโจมตี ผกค.บ้าง ผกค.ซุ่มโจมตีเราบ้าง เหตุการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่ง เมื่อคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ เวลาประมาณ ๐๓๐๐ ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ มีร.ท.ประชา ศิลป์ศรีกุล เป็น ผบ.ร้อย.ฯ จัดกำลังไปซุ่มโจมตี ผกค.ที่บ้านปากลง(ใกล้พื้นที่ อ.บ้านนาสาร และ อ.กาญจนดิษฐ์) ซึ่งห่างจากบ้านห้วยพาน ที่ตั้ง ทก.ร้อย.ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๖ กม.และสังหาร ผกค.ได้ ๑ ศพ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผกค.คงจะโกรธแค้นจึงหาโอกาสเล่นงานฝ่ายเราตลอดเวลา ผมแจ้งเตือนหน่วยให้เพิ่มความระมัดระวังที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ เคยถูกโจมตี และถูกเผาไปหลายแห่ง ยังเหลือที่ว่าการอำเภอท่าศาลา ซึ่งใกล้บ้านในถุ้งที่ตั้ง ทก.ฉก.นย.๒๒๗๑ ผมมีแผนตอบโต้ ผกค.โดยประสานกับทางอำเภอในการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นขั้นเป็นตอนที่สำคัญก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์เราจะยกกำลังไปทางชายทะเล มีการข้ามลำน้ำโดยใช้แพยาง ถ้าเราไปทางถนนคงถูก ผกค.ซุ่มโจมตีแน่ เคยมีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติ ๒-๓ ครั้ง โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เรากลัวเสียหน้า หาก ผกค.ปฏิบัติการได้สำเร็จ
       เหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นบทเรียนในเรื่องความลับรั่วไหล โดย ท ี่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของทหาร หรือจะเรียกว่าเกิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของทหารก็ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ ๑๔-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ เย็นวันที่ ๑๔ ขณะที่ผมนั่งอยู่ที่ศาลาซึ่งเป็นที่พักผ่อน และรับประทานอาหารของนายทหาร จนท.สื่อสารมารายงานว่า ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ และ ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ขออนุญาตลงมารับเบี้ยเลี้ยงในวันรุ่งขึ้น ผมตอบทันทีว่าไม่อนุญาต เพราะผมตั้งใจว่าวันที่ ๑๕ ซึ่งจะต้องขึ้นไปส่งเสบียง ผมจะขึ้นไปเยี่ยม ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ที่บ้านห้วยพาน และร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ ที่บ้านนพพิตำ รวมทั้ง ร้อย.ป.ฯ ด้วย แต่ไม่เคยปริปากบอกใครเลย ผมจะไปเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเข้าพื้นที่ไปตรวจหน่วยจะมีผมคนเดียวที่รู้คนอื่น ๆ จะรู้เมื่อถึงเวลา พลขับส่วนใหญ่จะรู้แค่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเท่านั้น นอกจากความตั้งใจไปเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้ ผบ.ร้อย.ปล.ฯ ทั้งสองลงมาก็อันตราย เพราะที่ ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ มีรถ ๓/๔ ตัน อยู่เพียง ๑ คัน ถ้าจะเดินทางลงมาที่ ฉก.นย.๒๒๗๑ ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯจะต้องเดินทางไปเพียงลำพังคันเดียวขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๑๐ กม. เพื่อรับ ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ที่บ้านห้วยพาน แล้วจึงจะเดินทางต่อไปอีกหลายสิบ กม. ทางก็ทุรกันดารมาก ซ้ำยังเป็นหน้าฝนอีกด้วย หาก ผกค.ดักซุ่มโจมตีจะไม่มีโอกาสรอด สูญเสียทั้งชีวิตและอาวุธยุทโธปกรณ์ เรื่องนี้เคยมีบทเรียนมาแล้วจาก ฉก.นย.ที่ผ่าน ๆ มา
       เช้าวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ ขบวนส่งเสบียงเริ่มออกเดินทางเวลา ๐๙๐๐ มีรถ ๒ ๑/๒ ตัน ๔ คัน รถที่ผมนั่งเป็นรถวิทยุ ๑/๔ ตัน อยู่คันที่ ๓ มีรถ ๒ ๑/๒ ตัน อยู่ข้างหน้า ๒ คัน ข้างหลัง ๒ คัน แต่เมื่อถึงบ้านโรงเหล็ก ร้อย.ป.ฯ ส่งรถ ๒ ๑/๒ ตัน ๑ คัน เข้ามาแทรกขบวนเป็นคันที่ ๒ รถวิทยุของผมจึงอยู่ในตำแหน่งที่ ๔ หลังจากออกเดินทางต่อไปได้สักพัก ผมมีความรู้สึกผิดปกติขึ้นมาเอง ถอดแว่นตากันแดดเก็บ และเตรียม ปลย. M.16 ประจำกายให้พร้อมใช้ ในการส่งเสบียงแต่ละครั้งการระวังป้องกันของเราอยู่ในขั้นที่ดีไม่มีความประมาทฝ่ายตรงข้ามเลยได้สั่งการให้หน่วยในพื้นที่วางกำลังคุ้มครองเส้นทางมี บ.จาก มว.บ.ฉก.นย.๒๒๗๑ บิน ลว.และให้ความคุ้มครองขบวนรถส่งเสบียง ป.๑๐๕ มม.จาก ร้อย.ป.ฯ เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนเมื่อร้องขอ เวลาประมาณ ๑๐๓๐ ขณะที่เดินทางมาถึงบ้านนบ(๒) พิกัด NK. ๗๔๖๗๒๔ ได้ถูก ผกค.ประมาณ ๓๐ คน ดักซุ่มโจมตี กว่าเหตุการณ์จะสงบเรียบร้อยลงได้ประมาณ ๓๐ นาที รถ ๒ ๑/๒ ตัน คันที่ ๓ ซึ่งเป็นรถบรรทุกข้าวสารอยู่หน้ารถผมถูกกับระเบิดเสียหายใช้การไม่ได้เลย จุดที่ระเบิดนั้นเป็นทางโค้งมากรถวิทยุของผมยังไม่ทันเลี้ยวมาถึง มิฉะนั้นผมผมคงจะเป็นเหยื่อไปด้วย ข้าวสารที่บรรทุกไปนั้นเป็นข้าวสารที่ทางอำเภอท่าศาลา ฝากขึ้นไป จำนวนประมาณ ๔๐ กระสอบ เพื่อช่วยเหลือราษฎรพื้นที่หมู่ที่ ๓ บ้านห้วยพาน หมู่ที่ ๔ บ้านสวนแปรง และหมู่ที่ ๕ บ้านพิตำ ตำบลนพพิตำ เนื่องจากเส้นทางชำรุด ฝนตกหนัก ทางอำเภอไม่สามารถส่งขึ้นไปได้ ในขณที่เกิดเหตุ ผมรีบวิทยุติดต่อ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ และร้อย.ปล.ที่ ๓ฯ ให้เตรียมกำลังพร้อมสนับสนุนติดต่อ ทก.ฉก.นย.๒๒๗๑ ให้ขอ ฮ.จาก ทภ.๔ และเรียกชุดระวังป้องกันซึ่งอยู่ข้างหลังผม ให้รีบขึ้นไปช่วยข้างหน้า ขณะที่กำลังขึ้นมานั้น ปรากฏว่า จ.ท.สนัย ฐิตะกสิกร ผบ.หมู่ป้องกันฯ ซึ่งรู้หน้าที่ดีนำพลทหาร ๒-๓ คน ขึ้นมาถึงพอดี จ.ท.สุนัย ฯ ได้ปะทะกับ ผกค.จำนวนหนึ่งที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ทก.ฉก.นย.๒๒๗๑ ส่วนหลัง พยายามติดต่อสอบถามหลายครั้งถึงชื่อ จำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตเนื่องจาก ทภ.๔ ต้องการทราบด่วน ส่วนที่ถูกดักซุ่มโจมตีก็ยังให้คำตอบไม่ได้เพราะยังไม่สามารถตรวจสอบได้ จากสภาพเหตุการณ์ มีผู้เข้าใจว่า ผบ.ฉก.นย.๒๒๗๑ คงได้รับการบาดเจ็บ หรืออาจจะเสียชีวิตจึงยังไม่รายงาน เมื่อ ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ส่งกำลังคุ้มครองเส้นทางจุดที่อยู่ใกล้และกำลังบางส่วน จากกองร้อยซึ่งอยู่ในความควบคุมของ พ.จ.อ.เฉลิม ชันแสง มาสนับสนุนเหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อยและเริ่มสำรวจความสูญเสีย เร่งส่งผู้บาดเจ็บมากเดินทางต่อไปนี้ที่ ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ บ้านห้วยพาน ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกประมาณ ๔ กม.เมื่อไปถึงปรากฏว่า ฮ. ๔ ลำ ของ ทภ.๔ มารอรับอยู่แล้วเป็น ฮ.ลำเลียง ๒ ลำและคุ้มกัน
๒ ลำ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บ ๑๔ นาย ผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บทั้งหมด เว้นผู้บาดเจ็บเล็กน้อยถูกลำเลียงโดย ฮ.จาก ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ นำส่งไปยัง รพ.ค่ายวชิราวุธ ทภ.๔ ได้มีพิธีรดน้ำศพผู้เสียชีวิตที่ ค่ายวชิราวุธในตอนเย็นวันนั้น เมื่อผมเดินทางกลับไปถึงแล้ว ศพทหารทั้ง ๓ นาย ลำเลียงกลับต้นสังกัด โดย บ.ทร.ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ เพื่อกระทำพิธีทางศาสนาต่อไป ผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาพยาบาล และปลอดภัยทุกคน ผมยังจำได้ว่า ขณะที่กำลังลำเลียงผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บขึ้น ฮ.จาก ร้อย.ปล.ที่ ๓ฯ นั้น ผบ.ร้อย.ฯ มาบอกกับผมด้วยความหวังดีตอนหนึ่งว่า “ ขอให้ผู้พันกลับ ฮ. ดีกว่าเพื่อความปลอดภัย” ผมตอบกลับว่า” ถ้าผมทำอย่างนั้นผมก็ ......ดี ๆ นี่เอง ” (...หมายถึงสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่ง) ผมใช้คำพูดอย่างนั้นจริง ๆ และยืนยันต่อว่า” ถ้าจะตาย ก็ขอให้ตายกับลูกน้องก็แล้วกัน” พ.จ.อ.เฉลิม ชัยแสง ซึ่งเป็นคนนำกำลังไปช่วยยืนอยู่ด้วยบอกว่า” คงไม่มีเหตุการณ์อีกแล้วเพราะเมื่อ ผกค.ถอนตัวจากการซุ่มโจมตีแล้วก็จะไม่หวนกลับมาอีก” ผมยังถามต่อไปว่า “ เอาบทเรียนนี้มาจากไหน ถ้านึกอย่างนี้ถือว่าประมาท” หลังจากที่ผมนำขบวนเดินทางกลับยังแวะดูชาวบ้าน ๒ คน ที่เสียชีวิตเนื่องจากซ้อนรถจักรยานยนต์เข้ามา ในพื้นที่การปะทะและถูกกระสุนปืนของ ผกค.จนเสียชีวิตได้สั่งการให้ช่วยเหลือนำศพกลับ และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป เมื่อเดินทางออกจากจุดเกิดเหตุได้เล็กน้อย ก็ได้รับรายงานว่า บริเวณที่เกิดเหตุกำลังมีการปะทะกันอยู่ นับว่าเป็นการยืนยันคำพูดของผมที่คัดค้าน พ.จ.อ.เฉลิม ชัยแสง อย่างชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อฝ่ายเราเข้าตรวจสอบ พื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งจึงพบศพ ผกค. ๑ ศพ และร่องรอยของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง การปะทะในครั้งที่สองนี้เชื่อว่า ผกค.คงจะมาตามศพ และผู้บาดเจ็บ ฝ่ายเรานำศพ ผกค.ไปเผาและทำบุญอุทิศ ส่วนกุศลให้ที่บริเวณบ้านห้วยพาน ยึดสิ่งของต่าง ๆ ได้รายการ ดังนี้.
        ๑. เครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรคจำนวนหนึ่ง
        ๒. เครื่องจุดระเบิดชนิดไฟฟ้า ๑ ชุด
        ๓. เข็มขัด US ๑ เส้น
        ๔. ซองบรรจุกระสุน ปลย. M .16 ชนิดบรรจุ ๓๐ นัด ๑ ซอง
        ๕. กระเป๋าใส่ซองบรรจุกระสุนจำนวน ๔ ซอง
        ๖. กระสุน ปลย. M .16 จำนวน ๑๐๖ นัด
การซุ่มโจมตีของ ผกค.ในครั้งนี้มีบทเรียนบางประการที่ควรจะจดจำเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญคือ
        ๑. เกี่ยวกับเรื่องการรักษาความลับ จากการที่ ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ ประสานกับ ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๓ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒ เพื่อขออนุญาต ผบ.ฉก.นย.๒๒๗๑ ลงไปรับเบี้ยเลี้ยงใน ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ นั้น มีพลทหารที่สังกัด ทก.ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ทราบเรื่อง เขาคงจะดีใจว่าวันรุ่งขึ้นจะได้รับเบี้ยเลี้ยงแล้ว จึงลงไปร้านค้าหน้าฐานของกองร้อยแล้วซื้อขนมซื้อบุหรี่เป็นเงินเชื่อพร้อมกับบอกแม่ค้าด้วยว่า ขอเชื่อไว้ก่อน ๑ วัน ในวันรุ่งขึ้น ผบ.ร้อยฯจะลงไปรับเบี้ยเลี้ยงมาจ่าย ปรากฏว่า ผกค.หรือสายของ ผกค.ซึ่งเป็นญาติของเจ้าของร้าน และนั่งอยู่ในห้องหลังร้านทราบความลับนี้ จึงมีแผนงานซุ่มโจมตีเกิดขึ้น ประกอบกับเวลากลางคืนมีฝนตกตลอด จึงง่ายต่อการดำเนินงานและวางกับระเบิด แต่เป็นการซุ่มโจมตีผิดขบวน มิฉะนั้น ฝ่ายเราจะสูญเสียมากกว่านี้
        ๒. ความไม่รอบคอบของฝ่ายเรา ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นความบกพร่อง เพราะแม้แต่ผมเองหรืออีกหลาย ๆ คนเมื่อไปปฏิบัติงาน ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รอบคอบ เพราะความที่นึกไม่ถึงนั่นเอง จุดที่ ผกค.ซุ่มโจมตีเรานั้นเป็นจุดที่ไม่เหมาะสมในการวางกำลังเลย จุดที่เป็นทางโค้งก่อนถึงจุดซุ่มนี้มีเนินสวย ที่กำบังดี ผกค.กลับไม่ใช้ จุดที่วางกำลังซุ่มโจมตีนี้เป็นไหล่ถนน ซึ่งเป็นหลุมลึก และชัน มีลำน้ำใกล้ ๆ การถอนตัวจะลำบาก แต่ดีอยู่บ้างเป็นป่าปกคลุม เหมาะสำหรับการซ่อนพรางเท่านั้น ช่วงเวลาเช้ากำลังของ ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ที่มาลาดตระเวนเพื่อวางกำลังคุ้มครองคงจะผ่านจุดนี้ไปเพราะไม่สนใจ จึงทำให้การปฏิบัติของ ผกค.มีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผลตามแผนที่วางไว้
        ๓. ความไม่เฉลียวใจเมื่อมีสิ่งบอกเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้น เมื่อใกล้จะถึงที่เกิดเหตุประมาณ ๒ กม.รถคันที่ ๑ และ ๒ ได้สังเกตเห็นรถจักรยานยนต์ คันหนึ่งขับออกมาจากบ้าน ซึ่งอยู่ข้างทางและพยายามแซงขบวนของพวกเราไปอย่างเร็ว ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีชาวบ้านคนไหนพยายามแซงขบวนของเราในลักษณะนี้เลย เพราะทางแคบ ลื่น เป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วคนที่เห็นรถจักรยานยนต์คันนั้นพร้อมกับนึกถึงคำถามหรือข้อสงสัยจึงได้คำตอบว่านั่นคืออะไร
       เรื่องนี้เกิดขึ้นเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว ผู้ร่วมเหตุการณ์บางคนเกษียณไปแล้วหลาย ๆ คนใกล้จะเกษียณ หรือเหลือเวลารับราชการอีกไม่นานนัก อาจจะกล่าวถึงได้ไม่ละเอียดพอ เพราะลืมเลือนไปบ้าง บทเรียนต่าง ๆ จากการรบพอจะมีให้เห็นเป็นการเตือนสติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักปฏิบัติของผม เมื่อจะเดินทางเข้าพื้นที่หรือไปปฏิบัติงานก็คือมื้อเช้าต้องรับประทานอาหารให้อิ่มเต็มที่ ข้างหน้าเราไม่รู้ไม่ใช่อาหารเช้ามีเพียงกาแฟถ้วยและกล้วยเพียงลูกเดียว แล้วมาพบอาหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณ ๑๙๐๐ เช่นเดียวกับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ ที่ผ่านมา
       การนำกำลัง ไปปราบปราม ผกค.ในปีงบประมาณ ๒๕๒๔ ครั้งนี้ นับว่าเป็นภารกิจสุดท้ายที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของทหารนาวิกโยธิน รวมเป็นเวลา ๔ ปี ๗ เดือน ในการปราบปราม ผกค.บริเวณนี้ โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติของ ฉก.นย.๒๐๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา
       ฉก.นย.๒๓๙๓ สนธิกำลังจาก พัน.ร.๙ รอ.กรม ร.๓ นย.(นราธิวาส) กับ ๑ กองร้อยปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.และ ๑ หมวดบินทหารเรือ มี นาวาโท ถาวร วัฒนารมย์ ผบ.พัน.ร.๙ รอ.กรม ร.๓ นย.เป็น ผบ.ฉก.นย.๒๓๙๓ กำลังของ ฉก.นย.๒๓๙๓ เข้าทำการป้องกันและปราบปราม ผกค.ในเขต อ.ท่าศิลา อ.สิชล อ.ขนอม และ อ.เมือง (บางส่วน) ของ จว.นครศรีธรรมราช จนถึงสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๒๔
 
ผลการปฏิบัติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๒๑ – ๒๕๒๔
 
       ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา ทหารนาวิกโยธิน สามารถปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากยึดค่ายกรุงชิงได้แล้ว พระบทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรและได้ทรงทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จัดตั้งเป็นโครงการพระราชดำริขึ้นทรงให้สร้างทางเข้าไปในพื้นที่และทำโครงการชลประทานเพื่อให้ราษฎรได้เข้าไปอยู่อาศัย ทหารนาวิกโยธินจึงต้องอยู่รักษาพื้นที่ ให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพด้วยความปลอดภัยและเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจในการปราบปราม ผกค.ของ กอ.รมน.ภาค ๔ ได้ประสบความสำเร็จมาโดยลำดับ ดังนั้น พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา จึงได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว โดยให้คงกำลังหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินไว้ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ จว.นราธิวาส เพียงหน่วยเดียว
      - ปะทะกับ ผกค. ๖๙ ครั้ง
      - เหยียบกับระเบิดของ ผกค. ๓๑. ครั้ง
      - ถูกซุ่มโจมตีและยิงรบกวนฐาน ๘๒ ครั้ง - ทำลายค่ายพัก ผกค.ได้ ๙ แห่ง
      - ยึดอาวุธปืน ปสบ.๘๗ ได้ ๓ กระบอก กระสุนปืนจำนวนมาก
      - ยึดเอกสารปลุกระดมมวลชนและเครื่องใช้จำนวนมาก
      - ฝ่ายเราเสียชีวิต ๓๘ นาย บาดเจ็บ ๑๒๖ นาย
     - ผกค.เสียชีวิต ชาย ๒๑ คน หญิง ๑ คน ถูกจับกุม ๑๓ คน มอบตัว ชาย ๑๐๘ คน หญิง ๔ คน
 
      
 
รายชื่อผู้เสียชีวิต
๑. ร.ต.กิตินันท์ รัตนชื่น
๒. ว่าที่ ร.ต.ธีรยุทธ วาสิกดิลก
๓. ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ พูลสวัสดิ์
๔. พ.จ.อ.เที่ยง มะลิผล
๕. พ.จ.อ.ขวัญชัย มาบางยาง
๖. จ.อ.ไพศาล เลิศเกียรติศักดิ์
๗. จ.อ.สุรินทร์ บำรุงธรรม
๘. จ.อ.ประยูร พิมพ์ทำมา
๙. จ.อ.วิโรจน์ นามสวัสดิ์
๑๐. จ.อ.วิทยา ซึมสุวรรณ
๑๑. จ.อ.รณชัย จันทร์ใย
๑๒.จ.อ.กลั่น แก้วยวน
๑๓. จ.ท.สุรัตน์ โห้สุวรรณ
๑๔.พลฯ วิชัย บุญเสถียร
๑๕.พลฯ ปรีชา สุขสวัสดิ์
๑๖.พลฯ ปรีชา อินอ่ำ
๑๗.พลฯ สุรทิน สิงห์รงค์
๑๘.พลฯ บรรจง นาคม่วง
๑๙.พลฯ ลำสุเด็น เต๊ะสนู
๒๐.พลฯ บุญล้อม ใจช้า
๒๑.พลฯ ไพบูลย์ พรหมทอง
๒๒.พลฯ ดอฮา พันธุ์นุ่ม
๒๓.พลฯ ประพันธ์ กลิ่นบัวแย้ม
๒๔.พลฯ สุวิทย์ เสนะกุล
๒๕.พลฯ บุญชู แซ่ลิ้ม
๒๖.พลฯ อาหมาด พงหลง
๒๗.พลฯ สุขสันต์ ใจงาม
๒๘.พลฯ สมศักดิ์ บุญเพ็ง
๒๙.พลฯ ดลหมาด ยาทหม
๓๐.พลฯ สุรพงษ์ ร่วมโพธิ์ธี
๓๑.พลฯ ไพฑูรย์ ดำภา
๓๒.พลฯ แสวง ทองบุญเหลือ
๓๓.พลฯ สุนทร สวนเข็ม
๓๔.พลฯ ประภาส ดวงจิตร
๓๕.พลฯ สุนธยา เก่งอนันตานนท์
๓๖.พลฯ ณรงค์ แซ่จี่
๓๗.พลฯ ปรีชา อัศวิกุล
๓๘.พลฯ องอาจ พึ่งสกุล
ที่มา http://www.marines.navy.mi.th/index56.php