ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บ้านร่มเกล้าสมรภูมิเลือดชโลมแผ่นดิน ตอนที่ ๕ จบ

https://www.youtubeto.com?task=MP4&url=https%3A%2F%2Fwww.youtube.com%2Fwatch%3Fv%3DqEnA-8g71Xs
 ๑๓ ก.พ.๒๕๓๑ เครื่องบินชุดเดิมจึงขึ้นบินโจมตีเป้าหมายอีกครั้งได้รับแจ้งข่าวจาก ฝูงบิน ๑๐๒ ว่า สปป.ลาวมีอาวุธต่อสู้อากาศยานที่มีอำนาจการยิงสูง ขอให้ระมัดระวัง 
ผบ.ฝูงบิน ๔๑๑ จึงได้สั่ง หมู่บินย่อยแรก บินนำเข้าสู่เป้าหมายและทิ้งระเบิดที่ความสูง ๖,๐๐๐ ฟุต หมู่บินย่อยที่ ๒ ให้บินอยู่เหนือขึ้นไปที่ ความสูง ๘,๐๐๐ ฟุต ทำหน้าที่เข้าโจมตีซ้ำหากหมู่บินแรกทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมาย
ก่อนที่หมู่บิน เอฟ.๕ จะมาถึงเป้าหมายได้มีหมู่บิน โอวี๑๐ได้ โจมตีกวาดล้างรัง ปตอ.อยู่ก่อนแล้ว เมื่อเอฟ.๕มาถึงและกำลังจะเข้าโจมตีต่อเป้าหมายคลังอาวุธ นักบิน เครื่อง๔หมู่๒ มองเห็นกลุ่มควันสีขาวจากพื้นดินพุ่งตรงมายัง เอฟ.๕ลำที่๑ หมู่๑ คาดว่าจะเป็นจรวดแซม ๗ เครื่องบินเสียการทรงตัว นักบินทั้งสองจึงต้องสละ เครื่อง (เวลาประมาณ ๑๓๐๐)โดดร่มไป ตกลงที่สนามบินบ้านนากอก เครื่องอีก ๓ ลำถูกระดมยิงจากอาวุธภาคพื้นดินอย่างหนักจนต้องถอนตัวกลับเข้ามาฝั่งไทย 
มีคำสั่งให้ เครื่องบินที่เหลือ ทั้ง ๓ เครื่อง กลับไปโจมตีเป้าหมายเดิมอีกครั้ง แต่ไม่อาจกระทำได้เพราะนักบิน ๒ คน ของเราถูกจับตัวไป อาจได้รับอันตรายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายเรา นักบินของเรา ถูกทหารลาวนำตัวไปควบคุมไว้ที่นครเวียงจันทร์ (ภายหลังจากมีการเจรจาสงบศึก คณะผู้แทนทหารของไทยจึงได้รับตัว นักบินทั้งสองกลับมาเมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ.๒๕๓๑)
ในวันรุ่งขึ้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกร้าวที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ หากจำเป็นจะเปิดศึกข้ามโขงก็ต้องทำ การเผชิญหน้ายังมีอยู่ต่อไปอีกหลายวันหน่วยจรยุทธของทหารพรานปฏิบัติการได้ผลที่หมายต่างๆทั้งปืนใหญ่ เส้นทางส่งกำลังบำรุงจากแขวงไชยบุรีรวมทั้งเนิน ๑๔๒๘ถูกทำลายจนหน่วยกำลังรบพร้อมที่จะเข้าตีขั้นแตกหักอีกครั้ง      ต่างคอยคำสั่งเข้าตีเพื่อเผด็จศึกข้าศึกให้ได้ เมื่อทางลาวถูกทำลายอาวุธสนับสนุนและถูกตัดเส้นทางส่งกำลังมายังแนวหน้า           จึงเร่งเปิดการเจรจากับฝ่ายไทย        สอดคล้องกับความเห็นของรัฐบาลที่ต้องการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการเจรจาคำสั่งต่างๆจึงยังเงียบอยู่        จนมีคำสั่งให้หยุดยิงตามผลการเจรจาในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ หลังจากนั้นจึงมีคำสั่งถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทใน ๔๘ ชั่วโมง สรุปความสูญเสียของการรบครั้งนี้
เปรียบ เทียบหน่วย ขนาดหนึ่งกองพัน (ประกอบด้วย ๑ กองร้อยบังคับการ ๓ กองร้อยอาวุธเบา)  เสียชีวิตประมาณ ๑กองร้อย บาดเจ็บสาหัส ๑ กองร้อย  บาดเจ็บไม่มากนัก ๒ กองร้อย ในจำนวนนี้ต้องพิการ ประมาณ ๑ หมวด ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากระเบิด และกระสุนปืนใหญ่และปืน ค.กำลังพลส่วนที่พิการนั้นส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเหยียบกับระเบิดเพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายเข้าตีที่ต้องเคลื่อนที่ผ่านดงกับระเบิดนับหมื่นๆลูกซึ่งเป็นลักษณะการทำสงครามของประเทศฝ่ายตรงข้ามของเราในหลายๆพื้นที่
ส่วนฝ่าย สปป.ลาวและพันธมิตร เทียบกองพันทหารราบ ๔กองร้อย เสียชีวิต ประมาณ มากกว่า๒ กองร้อย บาดเจ็บประมาณ ๒ กองร้อย เช่นเดียวกันเสียชีวิตและบาดเจ็บจากระเบิดและกระสุนปืนใหญ่ ส่วนที่พิการนั้นมีน้อยกว่าไทยเพราะการใช้กับระเบิดฝ่ายไทยนั้นมีน้อยกว่าฝ่ายลาวมาก
 ๒๘ก.พ. กองทัพบกจึงสั่งการให้ทัพภาค ๓ จัดกำลังไปทดแทนกองพันทหารม้า โดยจัดทหารราบจาก พล.ร.๔เข้าผลัดเปลี่ยนแทนกำลังจากพล.ม.๑


                   .......................................................................................................................................

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บ้านร่มเกล้าสมรภูมิเลือดชโลมแผ่นดิน ตอนที่ ๔

ช่วงปลายเดือนมกราคม ๒๕๓๑ผู้ว่าจังหวัดเลยสั่งปิดพรมแดนด้านอำเภอปากชม เชียงคาน ภูเรือ ด่านซ้าย และนาแห้ว เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายลาวลักลอบเข้ามาซื้อสินค้ายุทธปัจจัยเนื่องจากทางทหารรายงานว่ายุทธปัจจัยหลายอย่างที่ทางทหารลาวใช้สู้รบสั่งซื้อมาจากฝั่งไทยด้านจังหวัดเลย รัฐบาลและผบ.ทบ.อนุมัติให้กำลังรบสามารถรุกออกนอกประเทศได้ มีการเสริม ปกร.๑๓๐ ม.ม.และ ปกค.๑๕๕ ม.ม.แบบ จีซี ๔๕ ที่ยิงได้ไกลเกือบ ๔๐ ก.ม.เข้าสนับสนุนการรบทำให้สามารถตอบโต้ปืนใหญ่ของฝ่ายลาวได้ผลดี
ใกล้เที่ยงคืน ๖ ม.ค.๒๕๓๑ ในที่มั่นของทหารม้าทั้ง ๒ กองพันกระสุนปืนใหญ่ของลาวตกลงกลางฐานอย่างแม่นยำปลุกทุกคนให้เข้าประจำแนวอาจมีความสูญเสีย การประจำแนวยังไม่เสร็จสิ้นกระสุนปืนดั่งห่าฝนก็ระเบิดขึ้นกลางฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า การสูญเสียจากปืนใหญ่คงแล้วแต่ชะตากรรม แต่เหตุการณ์เช่นนี้บ่งบอกถึงการยิงเตรียมเพื่อการเข้าตี ดังนั้น ผบ.ร้อยจึงสั่งให้ทุกหมวดที่ประจำแนวอยู่เตรียมพร้อมสูงสุดที่จะเผชิญกับการเข้าตีของข้าศึก ที่มีกำลังประมาณ๗๐๐ นาย ส่วนความเสียหายและสูญเสียคงปล่อยทิ้งเอาไว้ ผตน.ยังมีชีวิตอยู่สิ้นเสียงปืนใหญ่ข้าศึกไม่นานยามฟังการณ์ก็รายงานถึงการบุกของข้าศึกที่เข้ามาทางช่องทางสันเนินส่วนฝ่ายเราที่ตั้งอยู่หลังเนิน ผตน.เห็นการเคลื่อนไหวด้วยใจระทึกเมื่อผบ.ร้อยให้สัญญาณการยิงป้องกันที่มั่นกระสุนปืนนานาชนิดและปืนใหญ่ก็ระดมยิงทันทีการฝ่ายข้าศึกนั้นยิงทั้งปืนกลและเครื่องยิงลูกระเบิดใส่ที่มั่นของฝ่ายเราชนิดไม่ลืมหูลืมตามองเห็นว่าข้าศึกแตกกระเจิงล้มตายไปมาก เหมือนจะหยุดข้าศึกเอาไว้ได้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ข้าศึกระดมยิง ค.ใส่ที่มั่นของฝ่ายเราอย่างหนักการปะทะนานจนถึงรุ่งสาง ข้าศึกก็นำกำลังเข้าตีครั้งใหม่สามารถรุกเข้ามาถึงขอบหน้าที่มั่น ฝ่ายเราสูญเสียอย่างหนัก ต้องทิ้งที่มั่นมาอยู่ด้านหลัง ข้าศึกเข้ามาจนเต็มที่มั่นถึงติดดาบแทงกันแล้ว ผบ.ร้อยได้รับบาดเจ็บหนัก ยามนั้นคงสั่งการให้ใครทำอะไรไม่ได้แล้วในภาวะที่เผชิญหน้าอยู่ ทุกคนต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่ฝึกรบกันมาเช่นเดียวกับฝ่ายข้าศึกที่ข้ามศพเพื่อนนับร้อยถาโถมเข้ามา แบบไม่กลัวความตายที่รออยู่ตรงหน้า นาทีสุดท้ายก่อนที่ข้าศึกจะเข้ามาถึงทก.ร้อย ผู้กองดึงวิทยุข่าย อำนวยการยิงจากผตน.ขอยิงข่มฉับพลันกองร้อยสิบนัดเป้าหมายที่มั่นกองร้อยปืนเล็กพร้องสั่งการให้ถอนตัวจากที่มั่น ระหว่างที่ส่วนเข้าตีหลักของข้าศึกเข้าถึงที่มั่นฝ่ายเราความเหี้ยมโหดผมขอใช้คำนี้ส่วนบัญชาการเข้าตีของข้าศึกก็ขอปืนใหญ่ยิงเหนือฐานฝ่ายเราด้วยเพื่อทำลายฝ่ายเราให้สิ้นซากโดยไม่คำนึงถึงกำลังพลฝ่ายตนว่าอยู่รวมกันกับฝ่ายไทยไม่ถึงสามนาทีกระสุนปืนใหญ่ทั้งลาวทั้งไทยก็ถล่มบนที่หมายฐานทหารไทย กำลังพลส่วนที่ติดพันกับข้าศึกถอนตัวไม่ทัน ก็ต้องสังเวยชีวิตเคียงข้างข้าศึกทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับ ส่วนอีก สองกองร้อยก็รบกันหนักเช่นกัน ในที่รวมพลกองร้อยนี้เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งหมวดโดยไร้เงาของผู้กองท่านเป็นวีรชนของเหล่านักรบทหารม้าไปแล้ว
สำหรับการปฏิบัติการทางอากาศด้วยที่หมาย๖เป็นที่สูงมีเนินเขาภูสอยดาวที่ ทหารม้าเข้าตีและยึดเอาไว้ได้อยู่ไม่ไกล มีเหตุจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินขับไล่พลาดเป้าหมวดในแนวหน้าจนฝ่ายเราสูญเสียละลายทั้งกองร้อยส่วนหมวดของอีกกองร้อยหนึ่งก็ถูกข้าศึกยับยั้งได้จนฝ่ายเราจึงต้องถอยกลับมาปรับกำลังใหม่ลำเลียงผู้บาดเจ็บล้มตายกลับสู่แนวหลัง เมื่อต้องถอนตัวจากแนวรบแม้
ฝ่ายเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยังแก้ไม่ตก หากเราไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านสันเนินเข้าสู่ที่หมาย ๖ได้การรุกเข้าที่หมายด้านอื่นเป็นไปไม่ได้แน่นอนเท่ากับเราไม่สามารถผลักดันทหารลาวออกจากเขตแดนไทยได้
การรบที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนนั้นฝ่ายเราได้สูญเสียจากอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วยทหารราบของลาวน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียจากกระสุนปืนใหญ่ของลาวส่วนกำลังตั้งรับของลาวมีกระสุนปืนยิงต่อสู้กับฝ่ายเราได้อย่างไม่กลัวหมด สามารถวิเคราะห์จุดศูนย์ดุลของการรบครั้งนี้ของลาวได้ ว่าอยู่ที่ปืนใหญ่ และการส่งกำลังบำรุง เพื่อให้การรบดำเนินการไปได้หน่วยเหนือจึงลดความสำคัญของที่หมาย ๖ เนิน๑๔๒๘ แต่ให้ความสำคัญต่อการส่งกำลังของข้าศึกมายังเนิน ๑๔๒๘ ดังนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนแผนการเข้าตี เรียกรหัสว่าสอยดาว๐๒ ใช้กำลังลังจรยุทธของทหารพรานจู่โจมที่๙๕๖,๙๔๐และ๙๕๔ แทรกซึมเข้าไปตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงและวินาศกรรมที่ตั้งยิงปืนใหญ่ ของลาวที่บ้านบ่อแตน บ้านสร้าน และภูเมี่ยง ส่วนการเข้าตีที่หมายยังคงใช้ กำลังทหารม้าที่มาจากแนวชายแดนสามหมู่บ้านอุตรดิตถ์สับเปลี่ยนเพิ่มเติมกำลังทดแทนการสูญเสียเข้ามา รถยนต์บรรทุกสองตันครึ่ง เอ็ม. ๓๕ ลำเลียงกำลังพลเข้าสู่ที่รวมพลในสมรภูมิอย่างต่อเนื่อง กำลังพลเดินทางขึ้นภูสูงชันกันทุกวันมีเสียงปืนกล ปืนใหญ่ ปืนเล็ก ตูมตามอยู่บ่อยครั้งในแต่ละวัน ตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งสาง
จากการสูญเสียอย่างมากของฝ่ายเรา จึงต้องปรับแผนการรบใหม่โดยใช้การปฏิบัติการทางอากาศเข้าสนับสนุน

ตีสี่ของวันที่๑๒ กุมภาพันธ์ เอฟ.๕ บินขึ้นจาก กองบิน ๔๑ เชียงใหม่ มากองบิน๔๖พิษณุโลกเพื่อมารับการติดตั้งระเบิดและรับฟังแผนการโจมตี ช่วงเช้ายังไม่สามารถปฏิบัติการได้เพราะสภาพอากาศเหนือเป้าหมายปิด ทำให้เครื่องต้องรอจนกว่าสภาพอากาศจะเปิดเสียก่อน เวลาประมาณ ๑๐๐๐   สภาพอากาศเหนือเป้าหมายเปิด เอฟ.๕ได้วิ่งขึ้นจากสนามบินพิษณุโลกเพื่อไปโจมตีสนามบินบ้านนากอก สปป.ลาวแต่สภาพอากาศปิดอีกครั้ง จึงต้องบินวนรอบริเวณ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ที่สุดแล้วก็กลับมาลงสนามบินที่พิษณุโลก เพื่อรอปฏิบัติภารกิจนี้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น

บ้านร่มเกล้าสมรภูมิเลือดชโลมแผ่นดิน ตอนที่ ๓

                                  ๕ พ.ย. ๒๕๓๐กำลังทหารของ สปป.ลาวก็ระดมเสริมกำลังพลและอาวุธทั้งยุทโธปกรณ์อาวุธจรวด ปืนใหญ่ เข้าพื้นที่เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยกองพลทหารราบที่๑มีพลจัตวาบุญทอน จิตวีระพลเป็นผบ.พล กรมทหารราบที่ ๑ จำนวน ๑๒ กองพันมีพันโทคำมั่น กะนะเมือง เป็น ผบ.กรมพันโทบุญเลียงเป็นรองผบ.กรม พันโทสมบูรณ์ เป็นเสนาธิการกรม พันตรีคำพัน พันโทกองสีเป็นผบ.กรมทหารราบท้องถิ่นอีกกรมหนึ่ง และมีกำลังพลเพิ่มเติมจาก พล.ร.๖ พล.ร.๓ กรมรบพิเศษประกอบด้วยกองพันจากไชยบุรี๒กองพัน กองร้อยรบพิเศษท้องถิ่นเมืองเพียง  กองร้อยรบพิเศษของนครเวียงจันทร์  พร้อมอาวุธหนักกองพันปืนใหญ่สนามที่๖๐๕ ปกร. ๑๓๐ มม. ๓กระบอกปืน ๑๐๕ มม. ๓กระบอก   พัน.ปตอ.๒ กองพัน รถถัง๑๑ คันจากกองพันรถถังที่๑ และกองพันรถถังที่๒ รวมกำลังพล เกือบ๔๐๐๐นาย กองพลที่ ๖ ซึ่งตั้งอยู่ที่หลวงพระบาง ๔ กองพัน เช่นกัน มีกำลังพลกว่า ๔๐๐ คน สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ ๑๓๐ มม. ๓ กระบอก ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. ๓ กระบอก รถถัง ๕ คัน ปืน ค. ขนาด ๖๒ และ ๘๒ มม. รวมทั้ง ปตอ. ด้วย นอกจากนี้กองกำลังหลักซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ไชยบุรี มีปืนใหญ่ ๑๓๐ มม. ๒ กระบอก ปืนใหญ่ขนาด ๑๒๒ มม. อีก ๓ กระบอกรวมทั้งหน่วยจรวดต่อสู้อากาศยานแบบแซม ๗ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ หน่วยงานด้านการข่าวรายงานมาว่ากองทัพลาวได้รับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคด้านเคมี ด้านปืนใหญ่สนาม  เรดาห์ค้นหาเป้าหมายเครื่องมือตรวจการณ์หน้า เครื่องมือด้านการสื่อสารจากเวียดนาม กัมพูชา และประเทศคอมมิวนิสต์พันธมิตรด้านการทหารของลาวอีกสองสามประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านเจ้าหน้าที่เทคนิค  ส่วนชาวม้งบ้านร่มเกล้าจำเป็นต้องทิ้งบ้านอพยพหนีภัยการสู้รบไปยัง บ้านน้ำภาคน้อยอาศัยไร่ร้างปลูกเพิงพักอย่างง่ายๆเพื่ออาศัยหลบแดดฝน                                                                                                                                          
ลาวระดมสรรพกำลังเข้าตั้งรับตามที่มั่นต่างๆอย่างเต็มที่ ส่วนทหารไทยก็เข้าที่รวมพลต่างๆเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งยุทธการสอยดาว๐๑  มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ปืนใหญ่ฝ่ายลาวระดมยิงที่ตั้งต่างๆของไทยมีคนเจ็บจากกระสุนปืนใหญ่อยู่ทุกวัน
วันที่๖ ตุลาคมทหารลาวก็ดำเนินกลยุทธเข้าตีที่ตั้งทหารพรานมีการปะทะกันอย่างดุเดือด ตลอด๖ ชั่วโมง โดยเข้าตีอยู่ ๓ ระลอกทหารพรานสามารถต้านทานเอาไว้ได้ 
เมื่อต้องพบกับการโจมตีด้วยปืนใหญ่คงทราบดีว่าอีกไม่นานกำลังทหารพรานของไทยคงรุกเข้าตี ผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ของฝ่ายลาวที่คาดการณ์ว่าเป็นทหารฝ่ายที่สามพันธมิตรของลาวที่เฝ้าระวังป้องกันจึงขอปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องยิงตอบโต้ เป้าหมายต่างๆของฝ่ายเรากำลังตั้งรับของลาวมีการใช้หน่วยค้นหาเป้าหมายปืนใหญ่ของฝ่ายเราอย่างได้ผลปืนใหญ่ของฝ่ายเราต้องเคลื่อนย้ายที่ตั้งยิงบ่อยครั้งจากการยิงต่อต้านของฝ่ายลาว  มีการสูญเสียจากกระสุนปืนใหญ่และกับระเบิดที่ฝ่ายลาววางดักตามเส้นทางที่ฝ่ายเราจำเป็นต้องเคลื่อนพลเพื่อเข้าตียังที่หมายของลาว  ยิ่งมุ่งเข้าตีทหารลาวยิ่งทวีการยิงปืนใหญ่จากบ้านบ่อแตน บ้านสร้าน และภูเมี่ยง ต้านทานกำลังฝ่ายเราอย่างหนักฝ่ายเราบาดเจ็บและสูญเสียจากกระสุนปืนใหญ่กันทุกวันแทบไม่มีการบาดเจ็บจากกระสุนปืนอาก้าเลย   
 นักบินปีกหมุนจากกองบินทหารบก  ลพบุรี  ต้องใช้ ฮ.รับคนเจ็บจากยอดเนินต่างๆลงมาแนวหลังไม่เว้นแต่ละวันใช้ ฮ.ถึง ๕ เครื่อง เครื่องละหลายเที่ยว  แม้ภาพรวมของการเข้าตียังไม่ประสพผลสำเร็จ แต่ถึงกระนั้นฝ่ายลาวก็ต้องสูญเสียอย่างหนักจากการยิงด้วยปืนใหญ่ของฝ่ายไทยด้วยเหมือนกัน แต่ทหารลาวก็ยังไม่มีท่าทียอมถอนกำลังออกจากที่มั่นต่างๆการปะทะกันของหน่วยลาดตระเวนและยิงปืนใหญ่ตอบโต้กันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ท่ามกลางการเผชิญหน้ากัน     ทั้งสองฝ่ายปรับกำลังเพื่อเตรียมการเข้าปะทะครั้งใหญ่กันอีกครั้ง กระทรวงต่างประเทศของลาวจึงขอเจรจากับทางฝ่ายไทยเพื่อยุติปัญหากันอีกครั้งในวันที่๒๗เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ ระหว่างที่เตรียมการเจรจา ทหารลาวได้เสริมกำลัง เพิ่มเติมอาวุธ ปรับปรุงที่มั่นต่างๆ ทางการข่าวแจ้งว่าลาวได้เสริมกำลังเข้าตามที่มั่นตั้งรับสันเนินต่างๆมีการสร้างบังเกอร์คอนกรีตเสริมเหล็กมีหลังคาทำด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่เพื่อป้องกันกระสุนปืนใหญ่และระเบิดจากเครื่องบิน  ของฝ่ายไทยโดยเฉพาะที่มั่น เนิน ๑๔๒๘ รวมถึงมีการลักรอบเข้ามาวางกับระเบิดลึกเข้ามาเขตไทยแต่ไม่มีการปะทะ เพื่อรอผลการเจรจา หลังจากผลเจรจาของทั้งสองฝ่ายล้มเหลวการปฏิบัติการทางทหารต่างๆก็เริ่มต้นอีกครั้ง แม้จะยังไม่ประสพความสำเร็จแต่ก็สร้างความสูญเสียให้ฝ่ายลาวมาก  จึงทำให้เกิดการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ เป็นครั้งที่ ๓ซึ่งผลก็คือล้มเหลวเป็นครั้งที่๓ เช่นกัน
 เมื่อการเจรจาวันที่ ๑๑ ล้มเหลว หน่วยเหนือจึงสั่งให้ดำเนินการเข้าตีรุกโต้กลับโดยวางแผนให้ทหารพรานเป็นส่วนเข้าตีสนับสนุนเข้าตีที่หมายตรงหน้าส่วนทหารม้าเป็นส่วนเข้าตีหลักเข้าตีผ่านที่หมายผลักดันทหารลาวออกจากที่หมายเนินต่างๆที่ลาวยึดเอาไว้  ก่อนกองพันทหารม้าและทหารพราน จะผ่านแนวออกตี     ตามแผนเข้าตี  จะใช้ปืนใหญ่สนามขนาด ๑๐๕ ม.ม. และ ๑๕๕ ม.ม. ทำการยิงเตรียมไปยังเป้าหมายต่างๆของข้าศึกคือเนิน๑๑๘๒, เนิน๑๓๗๐, และ เนิน๑๔๒๘       รวมทั้งใช้การปฏิบัติการทางอากาศด้วยเครื่องบินโจมตี เอฟ๕อี และเครื่องโอวี-๑๐   ทิ้งระเบิดเป้าหมายต่างๆที่เป็นอันตรายต่กำลังเข้าตี ฝ่ายลาวที่ประจำอยู่บนที่มั่นต่างๆ
๑๔ ธ.ค.๒๕๓๐ในการรบช่วงแรกๆชุดลาดตระเวนของกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่๓๓๐๔ และ ๗๗๐๗ได้ทำการเข้าตี ที่หมาย ๑๐ และที่หมาย ๑๑ และเนิน ๑๔๒๘(ที่หมาย๖)โดยทหารพรานออกเคลื่อนพลแทรกซึมมุ่งเข้าสู่ที่หมายสามารถเข้าใกล้ ที่ตั้งของลาวไม่เกินระยะอันตรายใกล้ฝ่ายเราของปืนใหญ่คือ ๕๐๐เมตรแต่ความรกทึบสูงชัน  ดงสนามทุ่นระเบิด เมื่อข้าศึกเห็นความเคลื่อนไหวครั้งใดแม้เป็นทหารแค่หนึ่งคนจะใช้ปืนใหญ่และปืน ค.ระดมยิงเข้ามาทันทีสามารถยับยั้งฝ่ายไทยไว้ได้ ทหารพรานไม่สามารถรุกคืบหน้าถูกสกัดกั้นจนบาดเจ้บล้มตายจำนวนหนึ่งแม้หยุดและถอยปรับรูปขบวนรบหลายรอบก็ยังไม่สามารถเข้าถึงที่หมายได้ดังนั้นกองร้อยทหารพรานจึงได้แต่ตรึงกำลังเกาะติดข้าศึกเอาไว้
ส่วนทหารม้าจาก ม.พัน.๑๒ ม.พัน ๑๕ นั้นเข้ายึดเนินสเปอร์ที่ตรวจการณ์ของลาวหน้าที่หมาย ๖ เพื่อทำการยุทธบรรจบกับทหารพรานดังนั้นจึงจำเป็นต้องกวาดล้างที่ตั้งทหารลาวในเนินต่างๆด้านหน้าที่หมาย๖เสียก่อน ในที่รวมพลของกองพัน ผบ.พันทหารม้าจึง สั่งการให้ ผบ.ร้อยเข้าตี ที่หมาย ๒,๓,๔ ซึ่งเป็นเนินเขาที่ลาวยึดเอาไว้ เมื่อยึดที่หมายได้แล้วจึงจะไปบรรจบกับกำลังของทหารพรานที่เนิน ๑๔๒๘  โดยให้กองร้อยเคลื่อนที่ผ่านแนวออกตีในเวลา ๑๙๐๐น.เพื่อดำเนินกลยุทธเข้าตีต่อที่หมายในเวลาเช้ามืดของวันที่๑๔ ธันวาคมการเข้าโจมตีครั้งนี้มีทั้งปืนใหญ่และเครื่องบินขับไล่โจมตีเอฟ-๕อี และโอวี-๑๐ สนับสนุนสำหรับเส้นทางเคลื่อนที่ต้องใช้นั้นเป็นมีความยากลำบากด้วยเป็นป่าทึบ และเขาสูงชัน เป็นเส้นทางบังคับที่เต็มไปด้วยกับระเบิด  ดังนั้นกองพันเข้าตีจึงเลือกใช้รูปขบวนแถวตอนในการเคลื่อนที่รุกคืบไปสู่ที่หมายจากการประมาณสถานการณ์ของฝ่ายยุทธการคาดว่าการเข้าตีที่หมายจะมีความยากลำบากในการเคลื่อนที่ดำเนินกลยุทธ ด้วยเป็นการไต่เนินเข้าตีข้าศึก  ดังนั้นเพื่อลดการแบกขนเสบียงและกระสุนปืนต่างๆมีความเหนื่อยล้ายากลำบากครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกิน ๕ วัน จึงจ่ายเสบียงให้เพียง ๕ วัน เพื่อลดน้ำหนักของเป้หลังของทหารในการเคลื่อนที่ขึ้นที่สูงเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ ผู้พันจึงให้กำลังพลโหลดกระสุนปืนขนาด ๕.๕๖ ม.ม.ของอาวุธประจำกายเอ็ม ๑๖ คนละ ๓๘๐ นัด กระสุนปืนกลเอ็ม.๖๐ขนาด ๗.๖๒ ม.ม.จ่ายให้ ๑๑๐๐ นัด ลูกระเบิดยิง ค. ๖๐ ม.ม.จ่ายให้ ๑๒๐ ลูกต่อกระบอก หากเกินจากนั้นอาหารและกระสุนปืนต่างๆจะส่งกำลังให้ในภายหลัง หลังกินอาหารมื้อเย็นเรียบร้อยกำลังรบทั้งหมดคอยความมืดเข้ามาปกคลุมเพื่อใช้ความมืดอำพรางตัวในการเคลื่อนที่เข้าหาที่หมายที่อยู่บนที่สูงและมีการตรวจการณ์ซึ่งหากตรวจพบทหารไทยเคลื่อนกำลังเข้ามาในพื้นที่ระวังป้องกันของตนกำลังทหารไทยต้องเสี่ยงกับการถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดที่ฝ่ายลาวกรุยพิกัดเป้าหมายป้องกันเอาไว้ เมื่อดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาไม่นาน     ท่ามกลางกระแสลมหนาวที่พัดพาความหนาวเหน็บของเดือนธันวาคม แถวตอนเรียงหนึ่งของกองร้อยเข้าตีสนับสนุนก็เคลื่อนขบวนนำเพื่อเข้าตีตรงหน้าต่อที่หมายตามที่วางแผนเอาไว้  การเดินขึ้นเขาท่ามกลางความหนาวเหน็บและระวังทั้งกับระเบิด และการตรวจพบของข้าศึก จึงเป็นไปอย่างช้าๆ ด้วยความเงียบและระมัดระวัง เมื่อวางตัวที่แนวประสานการปฏิบัติขั้นสุดท้ายที่เป็นที่ราบสันเขามีความกว้างเพียงแค่ไม่ถึง ร้อยเมตรซึ่งกำลังเพียงแค่หมวดทหารราบก็แออัดมากแล้วดังนั้นกองร้อยจึงต้องวางตัวในแนวลึกลักษณะเป็นหมวดแถวตอน การยิงเตรียมด้วยปืนใหญ่วิถีโค้ง ๑๐๕ มม.และ ๑๕๕ ม.ม.ที่คำรามขึ้นอย่างถี่ยิบ ข้ามแนววางตัวของหน่วยในแนวหน้า เมื่อการโจมตีเป้าหมายตามแผนด้วยปืนใหญ่ที่กำหนดเอาไว้เสร็จสิ้นลงแล้ว และปืนใหญ่เลื่อนฉากการยิงออกไปแล้ว กองร้อยทหารม้าก็ดำเนินกลยุทธเข้าตีที่หมาย ๒,๓,๔ทันที ใน ขณะเดียวกัน เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๑๐๐ ม.ม.ลำ ๑๒๐ ม.ม.ของลาวก็ระดมยิงตัดรอนขัดขวางการเข้าตีของเราอย่างรุนแรงต่อเนื่อง
 ทหารลาวบนที่มั่นคุ้นเคยกับภูมิประเทศบริเวณที่ตั้งรับและพื้นที่ระวังป้องกันหน่วยของเขาอย่างดี จึงวางฉากการยิงป้องกันที่มั่นขั้นสุดท้ายเอาไว้บริเวณช่องทางบังคับเพียงช่องทางเดียวที่จะไต่ขึ้นเขาเข้าสู่ที่มั่นของลาวซึ่งฉากการยิงก็คือเนินลูกที่เราวางตัวอยู่นั่นเองการดำเนินกลยุทธของฝ่ายเราต่างจากแผนการโดยสิ้นเชิงด้วยเป็นพื้นที่แคบๆไม่กี่สิบเมตรการยิงด้านตรงหน้าของกองร้อยเข้าตีถูกจำกัด ด้วยต้องเคลื่อนที่เป็นหมวดแถวตอนดังนั้นอำนาจการยิงในการเข้าตะลุมบอนจึงเหลือเพียงแค่ระดับหมู่ในแนวหน้าเท่านั้นส่วนที่เหลือต้องคอยหมอบหลบปืนค.ของฝ่ายลาว การยิงเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ ม.ม.จากตอน ค.กระทำได้ไม่ได้ผลนักนักด้วยขาดการตรวจการณ์และเป็นการยิงขึ้นเนินหากไม่เลยที่หมายก็ตกหน้าเป้าหมายเป็นเหตุให้ลาวใช้ ปรส.และจรวด อาร์พีจี ยิงตอบโต้การรบต่อเนื่องหลายวันฝ่ายเราจึงยึดที่หมายได้หน่วยเหนือสั่งการลงมาให้ กองพันทหารม้ายึดแนวสันเนิน เอาไว้ และสถาปนาเป็นที่มั่นตั้งรับเผชิญหน้ากับทหารลาวบนเนิน ๑๔๒๘ เอาไว้ เมื่อไม่สามารถเข้ายึดเนิน ๑๔๒๘ได้โดยง่ายฝ่ายเราจึงเสริมกำลังจากกองพันทหารม้าที่๒๖ พร้อมปืนใหญ่ช่วยโดยตรงเข้าสู่สนามรบทันที เพื่อเข้ารบแตกหักแต่ก็เป็นไปได้ยากเนื่องจากการเคลื่อนพลรุกคืบหน้าขึ้นภูสูงเป้าหมายตรงหน้าก็ถูกยิงด้วยปืนใหญ่สกัดทันที
เพื่อความปลอดภัยจากอาวุธปืนค.ของลาวทหารม้าทั้งหมดจึงเร่งสร้างคูสนามเพลาะ ขุดหลุมบุคคลให้เร็วที่สุด เมื่อมีกำลังกองพันของไทยตั้งแนวเผชิญหน้าฝ่ายลาวจึงระดมยิง ปืน ค.รบกวน ขัดขวาง กดดันให้เราถอนตัวอยู่ตลอดเวลาถึงแม้มีกำลังพลสูญเสีย แต่ฝ่ายเราก็ไม่ละทิ้งฐานที่มั่นลงมา ในแต่ละวันกองร้อยต้องจัดชุดลาดตระเวนรบเพื่อเข้าตีโฉบฉวยซึ่งอาจมีคำสั่งรบแตกหักในอีกไม่นานวันข้างหน้า ซึ่งก็มีการยิงปะทะกันทั้งปืนเล็กปืนกลเครื่องยิงลูกระเบิดทำให้ฝ่ายเราสูญเสียอยู่ทุกวัน เมื่อกดดันให้เราถอนตัวจากสันเนินไม่สำเร็จ กองทัพลาวจึงส่งกำลังพลเสริมที่มั่นตั้งรับเต็มอัตราศึกมีการเคลื่อนไหวบนเนิน๑๔๒๘ สังเกตได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญการข่าวแจ้งว่ามีการลำเลียงปืนใหญ่เข้าพื้นที่การรบหลายกระบอก ซึ่งผลปรากฏชัดเจนเมื่อเช้าวันปีใหม่เมื่อฝ่ายเราออกลาดตระเวนบริเวณหน้าเนินถูกปืนใหญ่ของลาวระดมยิงอย่างหนัก คราวนี้สร้างความหนักใจให้เราอย่างมากเพราะฝ่ายข้าศึกเพิ่มเติมปืนใหญ่สนับสนุนเป็นการเพิ่มความยากในการเข้าตีของฝ่ายเรามากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อปืนใหญ่ของฝ่ายเรายิงสนับสนุนยังที่หมายของลาวยังถูกตอบโต้อย่างรวดเร็วแม่นยำ จนทำให้ปืนใหญ่ฝ่ายเราต้องย้ายที่ตั้งยิงถอยออกมาจากระยะยิงของ ปกค.๑๒๒ ม.ม.ของฝ่ายลาวแสดงให้เห็นว่าลาวนั้นมีการใช้หน่วยค้นหาเป้าหมาย ที่มีเครื่องมืออันทันสมัย แม้ฝ่ายเราใช้หน่วยค้นหาเป้าหมายตรวจพบที่ตั้ง ป.ของลาวแต่ด้วยระยะยิง ปกค.๑๕๕ ม.ม.เอ็ม ๑๙๘ ที่ยิงได้ไม่ไกลนัก ทำให้เราต้องหาที่ตั้งยิงให้ข้าศึกอยู่ในระยะยิงซึ่งก็เสี่ยงที่จะถูกยิงต่อต้านเช่นกัน เมื่อลาวนำปืนใหญ่มาสนับสนุนการรบดังนั้นที่ตั้งของฝ่ายเราจึงถูกยิงทำลายอย่างหนักจนสูญเสียทหารกับกระสุนปืนใหญ่ของลาวไปหลายนายทุกครั้งที่ ผตน.ของลาวตรวจพบความเคลื่อนไหวบนที่มั่นของเราเขาจะระดมยิงด้วยปืนใหญ่แบบไม่เกรงกระสุนจะสิ้นเปลือง ฝ่ายลาวนั้นมีการแทรกซึมเข้ามาแนวหลังของไทยโดยซุ่มโจมตีทหารช่างและทหารพรานทำให้ฝ่ายเราสูญเสียกำลังพลไปจำนวนหนึ่ง
 การยุทธหากยืดเยื้อเช่นนี้ต่อไปนานวันทหารราบฝ่ายเราที่เสียเปรียบชัยภูมิอยู่ในที่ต่ำกว่าข้าศึกความสูญเสียจากกระสุนปืนใหญ่จะมีมากขึ้นๆ การใช้อาวุธหนักยิงตอบโต้กันมีอยู่ทุกวัน การรบไม่สามารถยุติลงอย่างง่ายยังคงยืดเยื้อไม่รู้จะจบอย่างไรจากการที่ฝ่ายเราเป็นฝ่ายเข้าตีแต่ยังไม่สามารถประสพความสำเร็จยึดที่หมายหลักคือเนิน๑๔๒๘ได้       

บ้านร่มเกล้าสมรภูมิเลือดชโลมแผ่นดิน ตอนที่๒

  จากการตัดถนนที่ผ่านเขตป่าเขาทำให้พื้นที่ป่าเขาทุรกันดารเปิดสู่โลกภายนอกการคมนาคมสะดวกขึ้นด้วยเป็นเขตที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์รัฐบาลยุคนั้นจึงเปิด ให้บริษัททำไม้รับสัมปทานป่าไม้   แต่การตัดไม้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการเจรจาปักปันเขตแดนที่แน่นอน มีเพียงหลักเขตที่๓๖บนภูสอยดาวเท่านั้น จึงนั้นทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่อ้างสิทธิเหนือดินแดนบ้านร่มเกล้า   เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ โดยในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่บริเวณเขตแดนด้านนี้ขึ้นมาและถูกนำมาประกอบสนธิสัญญาระหว่าง  สยาม กับ ฝรั่งเศสที่ที่ลงนามกันในปี พ.ศ.๒๔๕๐ สาระสำคัญของลักษณะเขตแดน ระบุเอาไว้ว่าใช้แม่น้ำเหืองเป็นเขตแดน ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่สำรวจได้สำรวจบริเวณโดยทั่วพบลึกเข้ามาฝั่งไทยยังมีแม่น้ำเหืองอีกหนึ่งแห่ง      แท้จริงแล้วแม่น้ำเหืองอีกสายหนึ่งนั้นชื่อน้ำเหืองป่าหมัน ดังนั้นจึงพิมพ์แผนที่ใช้น้ำเหืองป่าหมันเป็นเขตแดนโดยที่ไม่แจ้งให้สยามทราบหรือเจ้าหน้าที่สยามไม่มีความรู้เรื่องแผนที่จึงไม่ท้วงติง  ฝรั่งเศสจึงยึดครองดินแดนเข้ามาฝั่งสยามเพิ่มมากขึ้น   เมื่อสหรัฐเข้าช่วยเหลือเวียดนามใต้รบกับเวียดนามเหนือ ได้จัดทำแผนที่ถ่ายภาพทางอากาศ ไทยจึงพบว่ามีแม่น้ำเหืองป่าหมันอีกแห่งอยู่ลึกเข้ามาฝั่งไทยแต่ยังไม่มีเหตุการณ์กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในเวลานั้นจึงยังไม่มีการเจรจาหรือปฏิบัติการทางทหารใดๆ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางการลาวได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนบริเวณบ้านร่มเกล้า ประกอบกับห้วงเวลานั้นทางการไทยนำความเจริญและก่อสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคง เปิดป่าทึบที่หลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธจึงเกิดโครงข่ายถนนเข้าไปในพื้นที่ป่าทึบ เป็นผลให้เกิดจากการเข้าทำสัมปทานไม้จากบริษัทของไทย    ทำให้ สปป.ลาวที่เชื่อว่าดินแดนบริเวณนั้นเป็นของตนจึงนำกำลังเข้ารบกวน ขัดขวาง เพื่อปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของไทย เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างสองชาติจึงอุบัติขึ้น จากการถูกกองกำลังติดอาวุธเข้าขัดขวาง ทำร้ายและจับกุมคนงานของบริษัททำไม้และยังเคลื่อนกำลังลึกเข้ามาในเขตประเทศไทยเข้าโจมตีหมู่บ้านชาวม้งในเขตไทย ทำให้ทางการไทยต้องควบคุมพื้นที่และผลประโยชน์ของคนไทยในพื้นที่นั้นพล.ม.๑จึงจัดกำลังเข้าตรึงกำลังในพื้นที่ แต่การสู้รบยังไม่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการทางทหารหน่วยลาดตระเวนของทหารม้าสามารถลาดตระเวนไปถึงเนินต่างๆทั้งเขตไทยและบริเวณแนวชายแดนได้ตามปกติ ด้วยมีภารกิจด้านสามหมู่บ้าน จ.อุตรดิตถ์ พล.ม.๑ จึงต้องถอนกำลังออกมาและมอบพื้นที่ให้กำลังทหารพราน ที่ ๓๔๐๕ รับผิดชอบคุ้มครองหมู่บ้านและป่าไม้ เป็นเวลาไม่นานนักจากนั้นฝ่ายลาวเริ่มมีการปฎิบัติการทางทหารอย่างเงียบๆเพราะลาวมิใช่แค่การอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนและจับกุมบริษัททำไม้ของไทยเท่านั้น                                                 
   ช่วงเช้าตรู่ของปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ที่แคมป์คนงานของปางไม้ ขณะครอบครัวคนงานกำลังหุงหาข้าวปลาเพื่อเตรียมเข้าป่าตัดและชักลากไม้ ระหว่างนั้นในราวป่าด้านหน้าแคมป์บนทางลากไม้ที่ตัดออกมาจากภายในป่า    ทหารลาวปรากฏตัวพร้อมอาวุธสงครามครบมือ    ดาหน้าเข้าปิดล้อมแคมป์คนงานพร้อมสั่งการให้ทุกคนออกมารวมกันที่ลานหน้าแคมป์  คนงานเกือบ ๒๐คนจึงออกมารวมตัวกัน  อาวุธสงครามเล็งตรงมายังกลุ่มคนงานพร้อมตะโกนสั่ง  ให้ทุกคนออกมาให้หมดนั่งลงเอามือประสานบนหัว  มีทหารกลุ่มหนึ่งปีนป่ายขึ้นบนรถแทรกเตอร์ ๓ คันที่จอดเอาไว้ที่ลานหมอนไม้ ยิงคนขับรถแทคเตอร์คนหนึ่งเสียชีวิต เปิดถังน้ำมันแล้วเผารถทั้งหมดมีคนงานสามสี่คนแอบซ่อนอยู่หลังแคมป์ ตัดสินใจออกวิ่งมุ่งสู่ฐานทหารพรานที่๓๔๐๕เพราะจวนได้เวลาที่ทหารพรานจะเดินทางมาลาดตระเวนคุ้มกันบริษัททำไม้ทหารลาววิ่งไล่ติดตามแล้วยิงอาวุธปืนใส่ทันทีมีคนงานถูกกระสุนปืนล้มคว่ำไปหนึ่งคน เสียงอาวุธปืนสงครามทำให้การปฏิบัติการของลาวถูกเปิดเผย ทหารลาวจึงรีบถอนตัวพร้อมกับนำหัวหน้าคนงานกลับไปด้วยและหายสาปสูญไปนับแน่วันนั้น
ขณะทหารลาวเคลื่อนพลออกจากแคมป์  ทหารพรานก็นำกำลังเข้ามาถึง จึงเกิดการปะทะกันขึ้นเมื่อเข้าไปตรวจภายในแคมป์ จึงทราบความเสียหายมีรถแทรกเตอร์ถูกเผา ๓ คัน คนงานถูกยิงเสียชีวิต ๑ บาดเจ็บ๑คน คนถูกทหารลาวจับตัวไป ๑นาย ในภายหลังก็ไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ ส่วนทหารลาวถอยกลับไป   การตัดไม้ของบริษัททำไม้พิษณุโลกนั้นได้เข้าตัดไม้รอบๆภูสอยดาว อำเภอชาติตระการ เหตุการณ์นี้จึงทำให้บริษัททำไม้ต้องหยุดตัดไม้และออกจากพื้นที่ทันทีและมีข่าวว่าทหารลาวส่งหน่วยรบพิเศษมาติดตามล่าสังหารชาวม้งขาวที่บริษัททำไม้จ้างมาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยในการตัดไม้                                               
เช้ามืดของวันที่ ๗มิถุนายน ๒๕๓๐ ทหารลาวก็นำกำลัง กลับเข้ามาที่บ้านร่มเกล้าอีกครั้ง เข้าปิดล้อมหมู่บ้านโจมตีชาวไทยม้งที่บ้านร่มเกล้าโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการกวาดล้างกองกำลังกบฏจึงเกิดการปะทะกับกองกำลังทหารพรานขึ้น ในอดีตนั้นมีชาวม้งที่เป็นกำลังพลในกองทัพกู้ชาติลาวขาวของนายพลวังเปา ที่เคลื่อนไหวต่อต้านทางการลาวอยู่ในพื้นที่นี้ซึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐมาตั้งแต่สงครามเวียดนาม เพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือและลาวแดง เมื่อลาวแดงสามารถมีชัยชนะเหนือรัฐบาลลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น สปป.ลาว กลุ่มม้งขาวพวกนี้ก็มีพื้นที่เคลื่อนไหวในเขตภาคเหนือของ สปป.ลาวเรื่อยมา จนเกิดการสู้รบกันอย่างหนักที่ด่านวังเต่าติดชายแดนไทยทหารสปป.ลาวสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจึงระดมกำลังเพิ่มเติมเข้ากวาดล้างแต่กองโจรม้งได้เคลื่อนกำลังหลบหนีออกจากพื้นที่หายไปโดยลาวนั้นกล่าวหาไทยว่าให้การสนับสนุนและที่พักพิงแก่ม้งกลุ่มนี้โดยมีฐานส่งกำลังที่บ้านน้ำ เข็ก พิษณุโลก  ขณะเดียวกันมีทหารลาวอีกชุดหนึ่งได้ยกกำลังเข้ามาที่เขตบ้านนาผักก้าม และบ้านนากอก อ.นาแห้ว จ.เลย โดยชุดลาดตระเวนของทหารลาว ได้ ยิงราษฎรไทยตาย ๑ คน และจับกุมตัวไป ๗ คน แต่สามารถเล็ดรอดออกมา๒คนแต่ถูกติดตามยิงตาย ๑คนโดยทางการลาวตั้งข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านเหล่านี้บุกรุกเข้าไปตัดไม้ในเขตลาว
ที่บ้านร่มเกล้าจากการที่ลาวนั้นอ้างว่าเขตของลาวอยู่ที่น้ำเหืองปากหมัน ส่วนไทยว่าเขตแดนที่ปักปันกันอยู่ที่น้ำเหืองงา  ด้วยยึดถือเขตแดนไม่ตรงกันทำให้เขตแดนที่ลาวอ้างอยู่ลึกเข้ามาในแดนไทยถึง ๗๐ ตารางกิโลเมตร    หลังจากจับชาวม้งไทยไป ทางลาวก็พยายามคุกคามให้ชาวม้งบ้านร่มเกล้าให้ย้ายออกจากพื้นที่ไป     กองทัพภาคที่๓จึงต้องจัดกำลังทหารเพื่อคุ้มครองความตึงเครียดบริเวณชายแดนจึงเกิดขึ้นมีการปะทะกันถี่ขึ้นจากชุดลาดตระเวนของทั้ง สองฝ่ายที่ลาดตระเวนมาพบกันมีการตอบโต้กันด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๒ ม.ม.อยู่บ่อยๆจนจึงขั้นนำกำลังเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของฝ่ายไทย
สายของวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๐ ทหารลาวประมาณ ๓๐๐คนได้เข้าทำการรุกเข้ามาที่บ้านร่มเกล้าด้วยกำลัง ๑กองพันทหารราบพร้อมอาวุธเต็มอัตราศึก สนับสนุนด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดและ ปืนใหญ่๑๒๒ ม.ม. ที่เริ่มระดมยิงตั้งแต่เช้ามืดบ่งบอกถึงการเตรียมการเข้าตีของฝ่ายข้าศึกอย่างเต็มที่ สิ้นเสียงปืนใหญ่ไม่นานกำลังทหารราบของลาวระลอกแรกก็ได้ดำเนินกลยุทธ เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานชุดคุ้มครองที่ ๓๔๐๕ที่มีอาวุธสนับสนุนเพียง ปืนใหญ่ขนาด ๗๕ ม.ม.จาก ป.พัน.๗ จำนวน๑หมู่  ที่มาสมทบ ทหารพรานนั้นเตรียมพร้อมประจำแนวอยู่ก่อนแล้วจึงได้ยิงสกัดกั้น การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ที่มั่นทหารพรานถูกระดมยิงทั้งเครื่องยิงลูกระเบิด จรวดอาร์พีจี และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังอย่างหนักแต่ทหารพรานได้ตอบโต้จนกำลังของลาวไม่สามารถเข้าถึงขอบหน้าที่มั่นได้จึงตรึงกำลังระดมยิงเครื่องยิงลูกระเบิดและจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจีเข้าใส่บังเกอร์ 
หลังสิ้นเสียงระเบิดการเข้าตีละลอกที่สองก็โหมเข้ามาจนทหารพรานที่มีกำลังน้อยกว่ามากจวนเจียนจะละลายแต่ยังสามารถยิงต้านทานลาวเอาไว้จนเสียงปืนสงบทหารพรานสูญเสียจากการรบ ๑๓ นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง บ้านของชาวบ้านถูกเผา ๑๕ หลัง     ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกรับทราบรายงานถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากกองกำลังผาเมือง เสนาธิการทุกฝ่ายประชุมเคร่งเครียดเพื่อกำหนดแนวทางการตอบโต้และรายงานตรงไปยังรัฐบาลกรุงเทพ      เมื่อไม่สามารถยึดฐานทหารพรานของไทยได้กำลังหลักของ สปป.ลาวก็ถอนตัวกลับไปยังฝั่งลาว       จากเหตุการณ์บุกข้ามพรมแดนเข้ามาโจมตีฐานทหารพรานนั้น กองทัพภาคที่๓ จึงจัดกำลัง จากม.พัน.๗ จำนวน ๒กองร้อยเข้าตีผ่านกองกำลังทหารพรานติดตามกองกำลังลาว จนถึงเนิน ๑๔๒๘ยังไม่พบการดัดแปลงที่มั่นบนเนิน ๑๔๒๘ ระหว่างทางพบร่องรอยจากการเข้าตีและถอนตัวของทหารลาวเช่น รอยเลือด ผ้าทำแผล อาหารและอาวุธต่างๆที่ถูกทิ้งเอาไว้จำนวนมากจึงคะเนได้ว่าฝ่ายลาวมีการสูญเสียจากการเข้าตีครั้งนี้มากพอควรจนต้องถอนตัวกลับไป ชุดไล่ติดตาม  ไม่พบทหารลาวจึงถอนตัวกลับ ฝ่ายลาวนั้นได้ออกอากาศทางวิทยุโฆษณาชวนเชื่อถึงความชอบธรรมที่ได้ปฏิบัติการโจมตีทหารไทยให้พ้นออกจากดินแดนลาว ส่วนทหารพรานได้รับการเพิ่มเติมกำลังยังคงรับผิดชอบชายแดนบ้านร่มเกล้าต่อไป ด้านกองทัพลาวในส่วนหลังนั้นเคลื่อนไหวเสริมกำลังในพื้นที่บ้านบ่อแตนมากจนสังเกตุถึงความผิดปกติได้   
รายงานข่าวทางสถานีวิทยุแห่งชาติลาว ในวันที่๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ ได้เสนอบทสัมภาษณ์ของประธานคณะปกครองเมืองบ่อแตนแขวงไชยบุรี โดยกล่าวหาบริษัททำไม้เอกชนของไทยกับฝ่ายทหารไทยว่าได้ร่วมกันสร้างเส้นทางเข้าไปตัดไม้ในลาว และยัง ใช้กำลังทหารพรานเข้ารุกรานแผ่นดินลาว    ดังนั้นลาวจึงเรียกร้องให้ไทยยุติการกระทำดังกล่าวทันที อีกสามเดือนต่อมาชาวม้งที่ลาวจับตัวไปก็ถูกปล่อยกลับมา  เดือน กันยายน ๒๕๓๐   เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธอีกครั้ง และอีกหลายครั้งติดต่อกันเรื่อยมา             ทางการไทยและสปป.ลาวจึงนัดเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติมิให้เหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ แต่การเจรจาประสพความล้มเหลวจนเกิดการเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ระหว่างที่เปิดการเจรจากันนั้นฝ่ายลาวได้ลักลอบ       นำกำลังบุกรุกเข้าสร้างฐานที่มั่นบนเนิน ๑๑๘๒ เนิน,๑๓๗๐ และที่มั่นใหญ่เนิน๑๔๒๘อย่างแข็งแรงด้วยบังเกอร์คอนกรีต
เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาจนถึงจุดวิกฤติเช่นนี้  ในปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม กองทัพไทยจึงจำเป็นต้องสั่งการให้กองทัพภาคที่ ๓ ปกป้องอธิปไตยตามแผนป้องกันประเทศเปิดยุทธการ “สอยดาว๐๑”ขึ้น เพื่อปฏิบัติภารกิจขับไล่กองกำลังต่างชาติออกจากแผ่นดินไทย     กองทัพภาคที่๓ได้สนธิกำลังทั้งหน่วยกำลังรบ หน่วยสนับสนุนการรบ ได้แก่ ทหารม้า ทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารช่างสนาม ทหารพรานจู่โจม  และหน่วยช่วยรบอื่นๆ    เพื่อเข้าผลักดันให้ข้าศึกถอนกำลังออกจากเขตแดนของไทย