ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บันทึกจากสมรภูมิร่มเกล้า

              จากผู้เขียนบล๊อค/          ผมอ่านบทความนี้ ในเวปสารคดี ดอทคอม เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับชนรุ่นหลังที่จะได้ค้นคว้า ประวัติศาสตร์การรบของไทย จึงคัดลอกมาทั้งต้นฉบับ  เชิญติดตามอ่านได้ครับและมีเรื่องราวอีกมากที่สารคดี ดอทคอมให้ติดตาม

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บันทึก “ศึกร่มเกล้า” ยี่สิบสามปีตำนานสมรภูมิ ๑๔๒๘

Nov 1, 2011 
0
ยุทธการสอยดาว
หากกางแผนที่ทหารจะพบว่า ถัดจากน้ำเหืองง่าที่ไหลทางด้านตะวันออกของบ้านร่มเกล้า ถัดเข้ามาตลอดแนวคือ
จุดยุทธศาสตร์สำคัญอันประกอบด้วยเนิน ๑๑๘๒, ๑๑๔๖, ๑๓๗๐, ๑๔๒๘, ๑๑๑๒, ๙๐๕ ที่เรียงตัวตลอดแนวแม่น้ำจากเหนือลงใต้  ส่วนบ้านร่มเกล้านั้นตั้งอยู่ลึกเข้ามาจากเนิน ๑๔๒๘ ไม่ไกลนัก
ปัจจุบันบ้านร่มเกล้าอยู่ห่างอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๗๐ กิโลเมตร  จาก
ตัวอำเภอขับรถไปตามถนนหลวงหมายเลข ๑๒๓๗ และ ๑๒๖๘ ที่ไต่ไปตามหน้าผาสูงชัน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๔ ชั่วโมง
หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ โอบล้อมด้วยทิวเขาสูง ๓ ด้าน ทางตะวันตก เหนือ และตะวันออก  การเข้าถึงหมู่บ้านทำได้จากทางทิศใต้เท่านั้น (ดูแผนที่หน้า ๑๖๙ ประกอบ)
วันที่ผมไปสำรวจพื้นที่ ผมไม่พบแม่น้ำเหืองป่าหมันทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน พบแต่ลำห้วยหนึ่งชื่อ “ห้วยควาย” ซึ่งชาวบ้านบางคนบอกว่าคือแม่น้ำเหืองป่าหมันเก่า
บ้านร่มเกล้ามีคนม้งซึ่งเป็น “อดีตสหาย” (แนวร่วม พคท.) อาศัยอยู่จำนวนมาก และปัจจุบันจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดหมู่บ้านใหม่อีกแห่งคือ บ้านสงบสุข
ในหมู่บ้านมีร่องรอยศึกร่มเกล้าหลงเหลือไม่กี่อย่าง ที่ยังมีชีวิตชีวาคือ อดีต “ฐานเอกราช” ที่มั่นทหารพรานซึ่งมีบทบาทในการรบครั้งนั้นถูกแปรสภาพเป็น “ฐานตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๑๕๓” อยู่ไม่ห่างจากทางเข้าหมู่บ้าน  หลุมหลบภัยหลังโรงเรียนบ้านร่มเกล้าที่ถูกทิ้งร้าง  สุดท้ายคือป้อมรักษาการณ์เก่าใจกลางหมู่บ้านที่สร้างขึ้นในระหว่างศึกครั้ง นั้น
ร่องรอยที่ชัดที่สุดคือ “ความทรงจำ” ของคนในหมู่บ้านที่รอดชีวิตมาได้
“สมัยนั้นในหมู่บ้านมีบ้านราว ๔๐ หลัง เป็นกระต๊อบ  พอมีการโจมตีเอกชนที่เข้ามาทำไม้ นายทหารจากกรมทหารพรานที่ ๓๔๐๕ ผู้บังคับการกองร้อยทหารม้า ตัวแทนบริษัททำไม้และผมซึ่งขณะนั้นรักษาการตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เลยต้องไปหาข้อเท็จจริงที่จุดเกิดเหตุ” เซี่ยโล่ แซ่ลี วัย ๕๔ ปี ซึ่งเป็นไม่กี่คนในหมู่บ้านที่จำศึกร่มเกล้าได้ดี อธิบายจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมด
ความที่เขาเป็นอดีตสหาย พคท. ทำให้ทราบว่าหลักฐานในที่เกิดเหตุคือปลอกกระสุนปืนอาก้านั้นผลิตในเชโกสโลวา เกีย รอยรองเท้าผ้าใบเป็นแบบของโซเวียตน่าจะผลิตในเวียดนาม ทั้งหมดบ่งว่ากองกำลังดังกล่าวไม่ใช่กำลังของ พคท. ตามที่ทางการไทยสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ที่สำคัญคือพบหนังสือประท้วงเป็นกระดาษขนาดเท่าฝ่ามือ  “เขียนเป็นภาษาลาวบอกว่าตั้งแต่ภูเมี่ยงถึงริมน้ำเหืองป่าหมันเป็นของลาว ห้ามรัฐบาลไทยสนับสนุนชาวม้งที่ต่อต้านรัฐบาลลาว ห้ามตัดไม้ในพื้นที่ ถ้าไม่ฟังจะผลักดันตามกฎหมาย”
ไม่นานหลังจากนั้น สถานการณ์ก็เลวร้ายลง มีการตรวจพบความเคลื่อนไหวของทหารลาวตามจุดยุทธศาสตร์โดยรอบหมู่บ้าน แล้วพวกเขาก็พบว่าตนคือเหยื่อรายต่อมาของความขัดแย้งเรื่องเขตแดน
ในที่สุด เช้ามืดวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ บ้านร่มเกล้าก็ถูกถล่มด้วยปืนใหญ่
เซี่ยโล่เล่าว่าเคราะห์ดีที่หลายคนมีทักษะการรบติดตัวอยู่บ้างทำให้รอด ตาย  “เราหลบกันตามมีตามเกิด ยิงมาหลายชนิดทั้งปืนครก ปืนใหญ่ จรวด RPG ปืนกล ยิงตั้งแต่กลางดึกถึงตีสี่ บ้านพังหลายหลัง พวกผมได้รับคำสั่งให้อพยพ  หลังเสียงปืนสงบ ผมกลับมาดูพบศพทหารลาว ๒ ศพ ชาวบ้านโดนกระสุน ๒ คน  ตอนนั้นทำใจแล้วว่าที่นี่เป็นสมรภูมิรบแน่นอน และเราคงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น”
บันทึกความทรงจำของทหารไทยที่ร่วมรบในศึกร่มเกล้าจำนวนมากยืนยันตรงกัน ว่า ช่วงกลางปีจนถึงปลายปี ๒๕๓๐  เนิน ๑๔๒๘ และจุดยุทธศาสตร์รอบบ้านร่มเกล้ากลายเป็นสมรภูมิเลือด เมื่อกองทัพภาคที่ ๓ ของไทยส่งทหารเข้าผลักดันทหารลาวอย่างเต็มที่หลังปะทะกันอย่างประปรายมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม
พ.อ.วัฒนชัย คุ้มครอง อดีตผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ กองพันทหารม้าที่ ๑๘ หนึ่งในทหารผ่านศึก เล่าสภาพสมรภูมิไว้ในบทความของ น.อ. วิพันธุ์ ชมะโชติ (เผยแพร่ใน www.iseehistory.com) ว่าในสมรภูมิ ทหารไทยเสียเปรียบเนื่องจากทหารลาวยึดชัยภูมิบนพื้นที่สูงเพื่อตั้งรับการ บุก ทำให้การเข้าตีมีความสูญเสียสูงมาก
“ฝ่ายเรามี ‘พื้นที่’ ดำเนินกลยุทธ์กว้างไม่ถึง ๕๐ เมตร ทั้งยังลาดชัน การเข้าโจมตีจึงเป็นลักษณะไม่ผิดอะไรกับการรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ใน อดีต คือต้องเข้ายิงโจมตีลักษณะ ‘แถวตอนเรียงหนึ่ง’ ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจการยิง ‘เต็มรูปแบบ’ จากทหารที่มีหนึ่งกองร้อยได้  บางครั้งทหารด้านหน้าเปิดฉากยิงปะทะข้าศึก แต่ทหารที่ตามมาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการรบ…เป็นการรบภายใต้ ‘สภาพพิเศษ’ ซึ่งฝ่ายเราไม่ได้เตรียมตัวมา เนื่องจากจัดกำลังเต็มรูปแบบลักษณะที่จะรุกเข้าโจมตีที่หมายเป็น ‘แถวหน้ากระดาน’ ด้วยยุทธวิธีรบตามแบบ”
ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ การรบรุนแรงและถี่ขึ้น กองทัพไทยตัดสินใจเปิดฉาก “ยุทธการสอยดาว ๐๑” ส่งกำลังทหารราบและทหารม้าจากกองทัพภาคที่ ๓ เข้าเสริมกำลังทหารพรานและกำลังทหารหลักที่รบอยู่ในพื้นที่แล้วบางส่วน ใช้เครื่องบินขับไล่ F-5 สนับสนุนการโจมตีทางอากาศ (Close air support) โดยแนวรบสำคัญจะอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ซึ่งส่วนมากเป็นยอดเนินสำคัญ  ที่หมายสำคัญที่ต้องตีให้ได้คือ เนิน ๑๔๒๘ (ที่หมาย ๑)  เนิน ๑๓๗๐ (ที่หมาย ๒) เนิน ๑๑๔๐ (ที่หมาย ๓) (ที่หมายนี้ระบุในแผนที่ชุด L7017 แต่ไม่ปรากฏในแผนที่ของกองทัพไทยในหน้า ๑๖๙)
ปลายปี ๒๕๓๐ การรบในสภาพดังกล่าวดำเนินต่อไป เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามทหารไทยยังไม่อาจยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญส่วนใหญ่ไว้ได้แม้จะใช้ อาวุธหนัก
ธนวัฒน์ วงศ์ลีศิริวิวัฒน์ ครูโรงเรียนบ้านร่มเกล้าซึ่งขณะเกิดสงครามอายุ ๖ ขวบ เล่าสถานการณ์ขณะนั้นให้ฟัง “พื้นที่โรงเรียนบ้านร่มเกล้าที่เห็นตอนนี้คือพื้นที่ที่เขาเอาศพทหารมาพัก จำได้ว่ารถยีเอ็มซีที่เข้าพื้นที่สู้รบหลังหมู่บ้าน ขาเข้าไม่ได้บรรทุกอะไร ขากลับเต็มไปด้วยศพทหารไทย  ตอนกลางคืนแสงสีแดงที่เกิดจากการยิงปืนใหญ่ระหว่างฝั่งภูเขาเป็นสายพุ่งตัด ท้องฟ้าสีดำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก อาหารก็ขาดแคลน ไม่มีใครมีความสุขที่ต้องออกจากบ้านตัวเอง”

“หลายชีวิต” ในสมรภูมิร่มเกล้า

ในที่สุด ต้นปี ๒๕๓๑ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกไทยขณะนั้น ก็ประกาศผลักดันข้าศึกออกจากพื้นที่โดยใช้ “ยุทธวิธีทุกรูปแบบ”
เขาชี้ว่าไทยกำลังรบกับกลุ่มประเทศอินโดจีน (ลาว เวียดนาม) โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เป็นที่ประจักษ์โดยแน่ชัดแล้วนะครับว่า ประเทศลาวก็ตาม ประเทศที่สนับสนุนก็ตาม ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติทุกหนทาง หนทางที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการแทรกซึมเข้ามาเป็นจำนวนมาก เข้ามาในพื้นที่ของเราแล้วสร้างปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่วไป…เราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้เนิ่นนานไป ไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม ก็คือไม่คำนึงถึงขอบเขตและวิธีการทั้งสิ้น ซึ่งกองทัพบกจะเริ่มดำเนินการในลักษณะเต็มที่ในระยะเวลาที่จะถึงนี้” (มติชน ๑๐ ก.พ. ๒๕๓๑)
ถ้าพิจารณาบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้นจะพบว่า ปี ๒๕๓๑ อยู่ในปลายยุคสงครามเย็น สังคมไทยยังคงมีแนวโน้มสูงที่จะระแวงเพื่อนบ้านซึ่งปกครองด้วยระบอบ คอมมิวนิสต์  คำกล่าวของ พล.อ.ชวลิตจึงส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเชื่อมั่นในข้อมูลดังกล่าว
และยังผลให้ศึกร่มเกล้าเข้าสู่ช่วงรุนแรงและนองเลือดที่สุดใน “ยุทธการสอยดาว ๐๒” จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์
ประภาส รวมรส ปลัดอำเภอภูเวียงฝ่ายความมั่นคง อดีตทหารพรานสังกัดกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ ๙๕๗ ค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเข้าสู่สนามรบตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๑ ด้วยวัย ๑๙ ปี เล่าว่ากองทัพบกใช้ “ทหารพราน” ซึ่งเป็น “ทหารรับจ้าง” เป็นแนวหน้าในศึกนี้ โดยสั่งเข้าตีจุดที่ยากที่สุดคือเนิน ๑๔๒๘ ซึ่งถือเป็นหน่วยนำร่องก่อนที่ทหารหลักจะตามไปเสริม
ประภาสกรำศึกในสมรภูมิร่มเกล้าตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ประสบการณ์เฉียด
ตาย ๒๗ วันนั้นยังชัดเจนในความทรงจำ  เขาเล่าว่าที่หมายทางทหารของไทยมีทั้งหมด ๕ จุด ที่หมาย ๑ คือเนิน ๑๔๒๘ เป็นจุดที่ต้องยึดให้ได้ และทหารพรานจากค่ายปักธงชัย ๙ กองร้อยกับ ๑ ฐานยิง ประกอบด้วยปืนใหญ่ขนาด ๘๐ ๑๑๐, ๑๒๐ มม. ได้รับมอบหมายให้อยู่ในแนวหน้าตีจุดนี้ส่วนจุดอื่น ๆ ทหารหลักเป็นผู้รับผิดชอบ
“กองทัพไทยอ่านเกมขาดว่าค่าตัวทหารหลักแพงกว่าทหารพรานที่มีค่าอาหารวัน ละ ๒๔๐ บาท ค่าจู่โจม ๑๘๐ บาท ตายแล้วจ่ายแค่ ๒ แสนบาทจบ  คิดดูว่าเขาส่งทหารยศจ่าสิบเอกเท่านั้นมาคุมหน่วยผม ไม่ใช้นายร้อยเพราะไม่คุ้ม  ปรกติทหารพรานถูกฝึกรบนอกแบบ (สงครามกองโจร) แต่ศึกนี้จัดกำลังในแบบ ซึ่งไม่เหมาะ  ตอนไปถึงที่นั่นปืนใหญ่เราล้อมที่หมาย ๑ เป็นรูปครึ่งวงกลม เราต้องเข้าตีเนิน ๑๔๒๘ จากด้านหนึ่ง ถ้าตีได้จะตีเนินที่เหลือได้ทั้งหมด  ที่ร่มเกล้าภูมิประเทศเป็นภูเขาดิน พอฝนตกจะลื่นมาก เนิน ๑๔๒๘ ชันราว ๗๐ องศา ไม่มีที่ราบ  ฐานของลาวไม่ได้อยู่ยอดเนิน แต่อยู่ต่ำลงมาจากยอดเนิน  เขาทำแนวตั้งรับไว้ ๓ แนว แนวแรกคือรั้วขวาก ไม้รวก  แนวที่ ๒ คือกับระเบิด  แนวที่ ๓ คือคูเลด (สนามเพลาะ) แนวตั้งรับจากแนวแรกถึงแนวสุดท้ายลึก
๑ กิโลเมตร  ตามโคนไม้ก็วางระเบิดเต็มไปหมดเพราะรู้ว่าเวลายิงกันทหารไทยจะไปตรง นั้น  ปืนใหญ่ลาวแม่นมากขณะที่ปืนใหญ่ไทยยิงไม่แม่น แม้จะเป็นฝ่ายรุกแต่ใจเราตั้งรับเพราะเสี่ยงมาก  ยิงกันพักเดียวโดนหามลงมาทีละคน ๆ  ผมคิดแล้วว่าจะถึงคิวเราเมื่อไหร่ ได้ยินเสียงทหารลาวตลอดแต่ไม่เห็นตัวเลย”
จ่าสิบเอกนายหนึ่งจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒๑ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งระหว่างศึกร่มเกล้าสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ลพบุรี เล่าสถานการณ์อีกมุมของสนามรบให้ฟังว่า “ปืนใหญ่แต่ละกระบอกของเรารัศมีการยิงเกิน ๓๐ กิโลเมตร ปัญหาคือมีคำสั่งจากผู้ใหญ่ว่าต้องรอให้ลาวยิงถึงโต้กลับได้  บางทีเราคำนวณพิกัดได้แล้ว แต่กว่าจะขออนุญาตยิง ปืนใหญ่ข้าศึกก็เปลี่ยนที่ตั้งไปแล้ว  บางทีเห็นตำแหน่งปืนใหญ่ข้าศึกแต่ก็ทำอะไรไม่ได้  สรุปคือยิงสนับสนุนไม่ได้เต็มที่ทั้งที่พร้อมมาก”
นั่นเป็นผลให้ประภาสและทหารในแนวหน้าต้องรบอย่างยากลำบาก ทหารจำนวนมากเสียชีวิต หลายคนพิการจากการเหยียบกับระเบิด หลายครั้งพวกเขาต้องแบกศพเพื่อนกลับมาแนวหลัง
ส่วนเหตุการณ์ในแนวหน้า อดีตทหารสังกัดหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ ๓ นายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งก่อนสงครามฝังตัวหาข่าวในพื้นที่เนื่องจากสื่อสารกับชาวม้งได้คล่อง และระหว่างสงครามนำหน่วยทหารพรานเข้าตีจุดต่าง ๆ รวมถึงทำสงครามนอกแบบ ได้เล่าความโหดไว้อย่างเห็นภาพว่า
“ผมนำทหารพรานเข้าจุดที่จะตีเนินต่าง ๆ  วิธีรบคือผมกับทหารคนหนึ่งจะนำหน้าหน่วย ทิ้งระยะ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร มีอะไรเราเจอก่อน เช่นกับระเบิด  หลายครั้งผมเข้าไปปาดคอข้าศึกทิ้ง ตอนนั้นมีคำสั่งด้วยวาจาให้ตัดคอหรือหูข้าศึกกลับมาเพราะมีค่าหัวและส่งผล ทางจิตวิทยาทำให้ข้าศึกกลัว ศีรษะข้าศึกจะถูกส่งไปที่กองบัญชาการเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นลาวหรือต่างชาติ ผมทำแต่ไม่เห็นได้ค่าหัวสักที  ฟังแล้วคุณอาจรับไม่ได้ ช่วงหลังก็เอามาย่างกินด้วย หลัง ๆ ตัดหัวไม่ไหวเปลี่ยนเป็นตัดหูแทน  สถานการณ์แบบนี้ทำให้ทหารในสมรภูมิต้องเหี้ยมผิดมนุษย์  ผมไม่อยากให้มีคำสั่งแบบนี้อีกเพราะสร้างความแค้นให้ทั้งสองฝ่าย”
หลังจากนั้นเขากับทหารพลร่มชุดหนึ่งยังได้รับภารกิจเข้าไปชี้ที่ตั้งฐาน ปืนใหญ่ลาวซึ่งอยู่ลึกจากชายแดนเข้าไปในเมืองบ่อแตน  “ผมกับพลร่มระดับหัวกะทิ ๑๒ นายลอบเข้าลาวทางชายแดนด้านอุตรดิตถ์ นอนในที่ที่ไม่คิดว่าจะนอนได้ กินอาหารที่ไม่ต้องปรุง  ผลคือทำลายปืนใหญ่ลาวได้ ๒ กระบอกและถอนตัวกลับมาได้ นี่คือการปฏิบัติการนอกประเทศที่ไม่ได้ถูกบันทึก”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาเล่าไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีปฏิบัติการและพฤติการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยในสงครามครั้งนี้ไม่มีนักข่าวสำนักใดเกาะติดปฏิบัติการทางทหารในแนวหน้า แม้แต่สำนักเดียว
ส่วนการสู้รบทางอากาศ ข้อมูลจากเอกสารกองทัพภาคที่ ๓ ระบุว่าไทยเปิดการโจมตีด้วยเครื่องบินขับไล่ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๐ โดยใช้ฝูงบิน F-5 จากฐานบินที่นครสวรรค์และอุดรธานี  เที่ยวบินโจมตีถี่ขึ้นช่วงต้นปี ๒๕๓๑  ถึงตอนนั้นพื้นที่ปฏิบัติการบางส่วนได้ล้ำออกไปในเขตเมืองบ่อแตนของลาวหรือ ออกนอกประเทศแล้ว
ก่อนที่การโจมตีทางอากาศจะถี่ที่สุดช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
“พวกผมรับคำสั่งก่อนออกปฏิบัติการไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง” น.อ. ไพโรจน์ เป้าประยูร อดีตนักบินที่ ๒ ของเครื่องบินตรวจการณ์ขนาดเบาติดอาวุธ OV-10 C Bronco ประจำกองบินที่ ๔๑ ฝูงบิน ๔๑๑ จังหวัดเชียงใหม่ รำลึกความหลัง
เขาเล่าว่าขณะนั้นรัฐบาลไทยใช้ศักยภาพกองทัพอากาศอย่างเต็มที่เพื่อยึดพื้นที่คืนให้ได้
“ตอนนั้นฝูงบิน F-5 ทำงานหนักมาก เพราะโจมตี/ทิ้งระเบิดมานานหลายเดือน หน่วยเหนือกลับมาคำนวณว่าเครื่องบินแบบใดทิ้งระเบิดแม่นที่สุด จากสถิติคือ OV-10  เขาจึงตัดสินใจเรียกใช้เรา  ปรกติฝูงบินผมมีหน้าที่หลักคือลาดตระเวนและกู้ภัยกรณีเครื่องบินขับไล่ตก เหมือนหนังเรื่อง Behind Enemy Lines ซึ่งในเนื้อเรื่องจะมีหน่วยบินหน่วยหนึ่งเข้าไปช่วยนักบินขับไล่ที่หลบอยู่ ในแดนข้าศึก แต่เมื่อให้โจมตีเราก็ทำได้เช่นกัน”
เช้ามืดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  ร.อ.ไพโรจน์ (ยศขณะนั้น) กับ น.ท. สมนึก เยี่ยมสถาน ผู้บังคับฝูงบิน ๔๑๑ ขับ OV-10 หมายเลข ๐๘ จากกองบิน ๔๑ มาที่กองบิน ๔๖ (พิษณุโลก) พร้อม OV-10 อีก ๓ ลำ  ที่นั่น พวกเขาร่วมกับเครื่องบินโจมตีแบบต่าง ๆ อีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ ลำเตรียมไปโจมตีข้าศึกที่บ้านร่มเกล้า
ทว่า เมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า สภาพอากาศที่บ้านร่มเกล้าปิด มีเที่ยวบินขับไล่ F-5 เที่ยวเดียวเท่านั้นที่ออกไปทิ้งระเบิดในที่หมายสำคัญได้ ที่เหลือต้องรอสแตนด์บายที่ฐาน
ในที่สุดเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ OV-10 ของเขาก็ทะยานขึ้นจากกองบิน ๔๖ ใช้เวลา ๔๐ นาทีเข้าสู่เขตสงคราม  “เราบินโดยไม่สื่อสารทางวิทยุ พอเข้าสมรภูมิเสียงแรกที่ได้ยินมาจากนักบิน F-5 ที่ทิ้งระเบิดก่อนเรา  เขาร้องในวิทยุว่า ‘SAM Break’ เป็นภาษานักบินที่หมายถึงโดนจรวดต่อต้านเครื่องบินขับไล่  ผมยังคงมุ่งหน้าไปจิกหัวทิ้งระเบิด จู่ ๆ เครื่องก็กระดอน หันไปก็พบว่าปีกขวาขาดแล้ว ตอนนั้นรู้แล้วว่าโดนแซมสอย”
น.อ. ไพโรจน์เล่าว่าหลังจากนั้นเขากับผู้ฝูงก็ดีดตัวและเจอประสบการณ์ที่ไม่มีวัน ลืม  “ตอนดีดตัว ผมได้ยินเสียงร่มกาง รอบ ๆ ตัวเงียบมาก เห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนกลที่ยิงเราจากพื้นดิน เห็นกระสุนพุ่งเข้ามาหา โชคดีเฉียดไปโดนร่มหมด เสียงดัง ปุ ปุ ปุ ปุ ปุ  ตาซ้ายผมโดนสร้อยที่สวมอยู่ตีจนปิดตอนดีดตัว ตาขวาเบลอไปหมด มองข้างล่างก็เห็นร่มผู้ฝูงอยู่ไม่ไกล พอถึงพื้นก็เจอตัวเองอยู่ใกล้สนามบินบ้านนากอก พูดได้ว่าลงไปเกือบกลางกองพันเขา”
เขากับผู้ฝูงพยายามหนี ทว่าในที่สุดก็ถูกจับ แล้วถูกนำตัวไปขังไว้ที่เวียงจันทน์ในฐานะเชลยศึก ถูกสอบสวนอย่างหนักต้องอยู่ในคุกทั้งสิ้น ๑๒ วัน
นอกจากการสูญเสีย OV-10  กองทัพอากาศไทยยังสูญเสียเครื่องบิน F-5 อีก ๒ ลำ จากอาวุธชนิดเดียวกันที่ กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) นำมาใช้ในสนามรบ ทว่านักบินไม่ได้ถูกจับเป็นเชลย
ในช่วงท้ายของสงคราม การโจมตีทางอากาศยังผิดพลาด ก่อความสูญเสียอย่างหนักแก่หน่วยที่เข้าตีเนิน ๑๔๒๘ โดยในการทิ้งระเบิดครั้งหนึ่ง แรงระเบิดทำให้หน่วยทหารหน่วยหนึ่ง “ละลาย” เกือบทั้งกองพัน ซึ่งต่อมาเรื่องนี้กลายเป็นคำเล่าลือว่าทหารไทยบอมบ์พวกเดียวกันเอง
น.อ.ไพโรจน์เล่าเบื้องหลังที่เขาทราบมาจากทหารที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ว่า “ไม่ใช่ความผิดใคร  ผมมีเพื่อนเป็นทหารม้า ม.พัน ๑๘ เราคุยกันหลังสงคราม ระเบิดไม่ได้ทิ้งพลาด สถานการณ์คือขณะนั้นทหารบกส่งกำลังขึ้นไปเยอะ จะให้ถอยก็ลำบาก  ระเบิดที่ทิ้งตอนนั้นคือ Guided Bomb Unit หรือ GBU-12 ใช้เลเซอร์นำวิถีขนาด ๒,๐๐๐ ปอนด์ ถือเป็นการใช้ครั้งแรก ๆ ของกองทัพอากาศ ซึ่งแรงระเบิดเกินคาด ไม่นับลูกถัดมาที่กลิ้งจากเนินมาเจอหน่วยทหารไทยอีก ความสูญเสียจึงมากเกินคาดคิด”
ส่วนพลเรือนไม่เฉพาะคนบ้านร่มเกล้าที่ได้รับผลกระทบ คนในพื้นที่ถัดออกมาก็ได้รับผลจากสงครามครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ บริเวณอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ลาวกว่า ๔๐ ลูก แม้ว่าจะห่างบ้านร่มเกล้ากว่า ๔๐ กิโลเมตร แต่ก็ทำให้อาคารบ้านเรือนในตัวอำเภอเสียหายและมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
ขณะที่ในลาว ประชาชนที่บ้านเหมืองแผ่ บ้านใหม่ บ้านนาหล่ม บ้านนาเทา บ้านบ่อหางนา บ้านโพนสะหวัน บ้าน
นากาว โดนปืนใหญ่ไทยยิงถล่ม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง  ยังไม่นับความอดอยากอันเนื่องจากการปิดด่านชายแดนทั้งหมดที่ติดกับไทยในช่วง ท้ายสงคราม
ทั้งนี้ ความเสียหายทางการค้าที่เกิดกับพ่อค้าคนไทยจากการปิดด่านชายแดนทุกด้านอยู่ที่ ๑๐๐ ล้านบาท (ประชาชาติธุรกิจ ๖ ก.พ. ๒๕๓๑)

“ชาตินิยม” ของคนที่ไม่ได้รบ

ห่างจากสนามรบหลายร้อยกิโลเมตร ที่กรุงเทพฯ กับเวียงจันทน์ แนวรบทางการทูตร้อนระอุไม่แพ้กัน
กระทรวงการต่างประเทศทั้งไทยและลาวทำหนังสือกล่าวหาอีกฝ่ายไปยังองค์การ สหประชาชาติ เรียกทูตอีกฝ่ายมายื่นหนังสือประท้วง กล่าวหาอีกฝ่ายรุกล้ำอธิปไตย  ตามเมืองต่าง ๆ มีการชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตของอีกฝ่าย ทั้งนี้รัฐบาลไทยยังนำทูตจาก ๓๔ ประเทศที่ประจำในกรุงเทพฯ ไปดูแนวรบ พบปะนักการทูตจากประเทศสังคมนิยมซึ่งเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังและมีอิทธิพลต่อ การตัดสินใจรบของลาว
ส่วนแนวรบด้านสื่อนั้น งานวิจัย “ความสัมพันธ์ไทย-ลาว ในสายตาของคนลาว” ของ เขียน ธีระวิทย์ และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๔๔ ให้ภาพแนวรบด้านสื่อสิ่งพิมพ์ระดับชาติระหว่างศึกนี้ไว้ว่า หากดูหนังสือพิมพ์ลาว ๒ ฉบับคือ ปะชาชน และ เวียงจันใหม่  และหนังสือพิมพ์ไทย ๒ ฉบับ คือ ไทยรัฐ และ มติชน พบว่า
“ปรกติหนังสือพิมพ์ไทยโขกสับ (วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งประณาม) รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลของตนอย่างไม่ไว้หน้า แต่เวลามีศึกกับต่างชาติ หนังสือพิมพ์ไทยกับหนังสือพิมพ์ลาวรายงานเข้าข้างรัฐบาลของตนอย่างซื่อสัตย์ คล้ายกัน”
โดยหนังสือพิมพ์ลาวกล่าวถึงทหารลาวที่สู้ในสนามรบว่าเป็น “ประชาชนและทหารประจำท้องถิ่น” ต่อสู้กับ “ทหารปฏิการไทย” ที่ป่าเถื่อน ใช้อาวุธหนัก เครื่องบินเอฟ กระสุนเคมี  ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยบิดเบือนว่ามีทหารเวียดนามและทหารต่างชาติมาช่วยลาวรบ
ทั้งนี้ จากการสืบค้นบทความของคอลัมนิสต์และบุคคลสำคัญยุคนั้นเพิ่มเติม ผมยังพบความเห็นทำนองสนับสนุนให้ทหารรบอย่างเต็มที่ อาทิ
“ถามมีทหารไว้ทำไม-หรือกลัวลาว คึกฤทธิ์ข้องใจรัฐบาล ปล่อยลาวล้ำอธิปไตย” (มติชน ๑ ก.พ. ๒๕๓๑)
“รบเพื่อธรรมะไม่บาป-แนะพระสงฆ์ให้กำลังใจแนวหน้า พระปัญญาฯ (นันทภิกขุ) ปลุกขวัญทหาร ตายเสียยังดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้” (สยามรัฐ ๘ ก.พ. ๒๕๓๑)
ส่วนแนวรบในสื่อประเภทอื่นก็เข้มข้นไม่แพ้กัน วิทยุซึ่งเข้าถึงประชาชนจำนวนมากในยุคนั้น รัฐบาลไทยเปิดเพลงปลุกใจให้รักชาติ ขณะที่ลาวใช้การโฆษณาชวนเชื่อและวิทยุคลื่นสั้นซึ่งรับฟังได้ไกลถึงกรุงเทพฯ โจมตีไทย  สื่อทีวีไม่มีข้อมูลชัดเจนนอกจากปากคำทหารผ่านศึกไทยที่เล่าว่าฝั่งลาว ติดตามข่าวสารจากทีวีไทยตลอดเวลา เนื่องจากสัญญาณทีวีเมืองไทยนั้นข้ามแม่น้ำโขงไปถึงลาว
สงครามสื่อระหว่างสองประเทศซาลงเมื่อปรากฏข่าว พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำลาว เดินทางไปเยือนลาวเงียบ ๆ โดยต่อมาปรากฏว่านายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาว (ขณะนั้น) ส่งสารถึง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทย (ขณะนั้น) ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ โดยเสนอหยุดยิง ตั้งกรรมการผสมพิสูจน์เขตแดน และติดต่อเลขาธิการสหประชาชาติเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย  ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะตอบสารในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เห็นพ้องให้ปรึกษาหารือ ส่งผลให้เกิดการเจรจาช่วงวันที่ ๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ลาวส่งคณะผู้แทนทหารนำโดย พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุนพัน หัวหน้าเสนาธิการทหารสูงสุด กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) มาเจรจากับคณะผู้แทนทหารไทยนำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศดอนเมือง  ระหว่างเจรจาทั้งสองฝ่ายแสดงความเป็นกันเองอย่างยิ่ง โดย พล.อ. สีสะหวาดกล่าวกับ พล.อ. ชวลิตว่า “เราเป็นพี่เป็นน้องกันนะ” (สยามรัฐ, มติชน ๑๗ ก.พ. ๒๕๓๑)
ระหว่างนั้น ทั้งสองฝ่ายสั่งให้วิทยุและสื่อของตนลดการเปิดเพลงปลุกใจและโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้ “บรรยากาศการเจรจาดีขึ้น” อย่างไรก็ตาม ขณะที่เกมการทูตเข้มข้นอยู่ในเมือง ในสนามรบทั้งสองฝ่ายยังคงเสริมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่แนวรบอยู่ตลอด เวลา และความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน
ผลการประชุมคือแถลงการณ์ร่วม “หยุดยิง” วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีข้อสรุปคือ หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  สอง จะถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ ๓ กิโลเมตร  สาม ตั้งคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานตรวจการปฏิบัติตามข้อตกลง  และสี่ หลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยอาวุธ โดยจะให้มีการเจรจาภายใน ๑๕ วัน
สัญญาหยุดยิงนี้ได้รับการปฏิบัติจนเสร็จสิ้น หลังจากนั้น พล.อ. ชวลิตนำคณะผู้แทนทหารและสื่อมวลชนเดินทางไปเยือนกรุงเวียงจันทน์ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  “เที่ยวกันจนม่วนซื่นแล้วเลี้ยง ‘สเต๊กเก้ง’ แกล้มแชมเปญ” (สยามรัฐ ๒๓ ก.พ. ๒๕๓๑) ก่อนจะหารือกันและรับตัวนักบิน OV-10 ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกกลับประเทศในวันต่อมา โดยกำหนดกับนักบินว่าต้องให้ข่าวว่า OV-10 ลำที่ตกนั้นกำลังอยู่ในภารกิจ “ลาดตระเวน” มิใช่ภารกิจ “โจมตี”
ท่ามกลางคำวิจารณ์บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีน้อยอย่างเห็นได้ชัดในการเจรจาสงบศึก
ข้อมูลประจำเวบไซต์ sarakadee.com