ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เมืองระยองในทัศนคติของ ข้าพเจ้า

 เมืองระยองในทัศนคติของ ข้าพเจ้า
 ไม่ใช่เรื่องราวประวัติศาสตร์ ในหนังสือแบบเรียนนะครับ แต่ตรงตามชื่อเรื่อง คือในทัศนคติของข้าพเจ้า
ด้วยความที่ชอบท่องเที่ยวเดินทางไปตามต่างถิ่น ต่างบ้านต่างจังหวัด เมื่อไปภาคเหนือพอเข้าใจได้ว่าความจริงเมืองเหนือทั้งปวงที่เขามีทั้งภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งมีตัวอักษร เป็นของตนเอง ด้วยในครั้งเก่าก่อนดินแดนภาคเหนือก็คือ อีกอาณาจักรหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับ กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา หรือสยามแต่อย่างใด   แต่มีวิวัฒนาการการจนเป็นจังหวัดเป็นประเทศไทย มลายูในภาคใต้ คนภาคอิสานของเราและคนแถบจังหวัดชายแดนไทย กัมพูชา  ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ชื่อหมู่บ้าน บ้าง คำพูดภาษา  จึงเป็นภาษาของบ้านเมืองเขา ส่วนคนไทยสยามดั้งเดิมจะพูดผิดเพี้ยนกันบ้างแค่สำเนียงเช่นคนสุพรรณ  คนสุโขทัย คำเขียนเป็นภาษาไทยตรงตัวไม่ต้องแปล แต่ผมมาอยู่ระยองที่นี่ก็มีชื่อหมู่บ้านและแม้แต่ชื่อจังหวัดที่เขียนด้วยภาษาไทย แต่หาคำแปลเป็นไทยไม่ได้จึงทำให้แปลกใจค้นคว้าดูว่ามันเป็นมาอย่างไร
ผมแบ่งพื้นที่จังหวัดระยองไม่ใช่ตามเขตปกครองนะครับ แต่แบ่งตามหมู่บ้านที่ใช้ภาษาถิ่น โดยแบ่งออกเป็นเมืองระยองเก่าที่มีคนพื้นเพดั้งเดิม   กับเมืองระยองใหม่ที่มีคนมากหน้าหลายตามาตั้งถิ่นฐาน
 เมืองระยองเก่าได้แก่ หมู่บ้านรอบนอก อำเภอเมืองส่วนที่เป็นอำเภอแกลง และชายทะเลตั้งแต่แกลง ถึงอำเภอบ้านฉางระยองในอดีตเคยมีสามอำเภอ ท่าประดู่ บ้านค่าย และแกลง อำเภอท่าประดู่มีประชากรจำนวนน้อยเลยถูกยุบให้เป็นตำบลท่าประดู่ไปรวมตัวกับเมืองระยอง ส่วนอำเภอแกลงเคยเป็นจังหวัดมาก่อนแต่มีประชากรอยู่น้อยมากไปรวมตัวกับเมืองถูกยุบให้เป็นอำเภอ
ประชากรที่นครระยองส่วนใหญ่เป็นชาวชองที่สืบเชื้อสายจากเขมรผสมมอญ ต่อมามีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาก็ผสมกับจีน ภาษาที่ใช้ในเมืองระยองคือเดิมนี้เป็นภาษาชอง แต่คำพูดส่วนใหญ่กลืนด้วยภาษาไทยภาคกลาง คงเหลือสำเนียงชองที่เหลืออยู่ การพูดของชาวชองคือการพูดธรรมดา หางเสียงของชาวชอง พูดคำว่า ฮิ หมายถึงค่ะ
 ชาวบ้านกลุ่มนี้จะมีถิ่นฐานมาตั้งแต่บรรพบุรุษมี รูปร่างทันทัด ไม่สูงใหญ่ ผิวพรรณดำแดงค่อนข้างดำ พูดภาษาถิ่น มีชื่อหมู่บ้านตำบลที่แปลเป็นภาษาไทยไม่ได้อยู่มากยกตัวอย่าง  มะเขือเม่ด กะหลุก กะดากหัก กะงอกกะแงก กะแง้  กะช้อง  กะเตอะ  กะพ่ำ  เมือง ระยอง บ้านตะพง  บ้านแกลง บ้านกร่ำ บ้านชะวึก บ้านแลง เขาชะเมา บ้านเพ ฯลฯ
ส่วนระยองเมืองใหม่ก็ตัวเมืองตัวอำเภอทั้งหลายที่รวมคนหลากหลาย ทั้งอพยพแรงงาน ทั้งย้ายถิ่นฐานภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม  เหมือนเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ในส่วนนี้จะพูดภาษาไทยภาคกลาง ภาษาลาวอิสาน บางท้องที่เป็นเมืองเกิดขึ้นใหม่จากการอพยพถิ่นฐานทำกินภาคเกษตรมาหักร้างถางพง อยู่ไกลปืนเที่ยงจนบ้านเมืองเจริญขึ้นเกิดเป็นอำเภอ เช่น นิคมพัฒนา บ้านค่าย วังจันทร์  บ้านฉาง ปลวกแดงบ้านเมืองส่วนนี้ในอดีตเก่าก่อนเป็นป่าเป็นดงยกเว้นด้านติดกับทะเลอย่างเช่น บ้านพลา ถึงบ้านกร่ำบ้านแกลงที่มีคนดั้งเดิมอาศัยทำประมงอยู่ ดังนั้นทั้งระยองเมืองเก่ากับชาวประมงชายทะเลทั้งจังหวัดเป็นคนกลุ่มเดียวกันภาษาพูดเดียวกัน เรียกว่าภาษาระยองนั่นเอง

จากการรวบรวมข้อมูล ผมขอนำท่านไปสู่ครั้งอาณาจักรขอมศูนย์กลางอยู่พระนครธมทิศตะวันออกครอบคลุมเวียดนาม ทิศเหนือจากเวียดนามล้านช้างจำปาศักดิ์หริภุญชัยทิศตะวันตกติดมอญทิศใต้ติด  ศรีวิชัย ทราวดี ขยายภาพดินแดนที่ต่อเนื่องด้านตะวันตกของเมืองพระนครธมที่ปัจจุบันเป็นดินแดนของประเทศไทย ได้แก่เมืองชายทะเลเล็กๆห่างจากแนวเขาสูงของเมืองเพนียด( เชิงเขาสระบาป ลงมาถึงแม่น้ำจันทบุรีในปัจจุบัน) มาทางตะวันตก ดินแดนที่เป็นอำเภอเมือง อำเภอเขาคิชกูฎ พื้นที่เหล่านี้เป็นป่าเขาผืนเดียวกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบันในที่ราบหุบเขา ใกล้แม่น้ำจะมีชุมขนขอม  ด้วยมีหญิงชาย มีการเดินทางค้าขาย กับชนชาติมอญด้านตะวันตกของดินแดนจึงมีการสืบเผ่าพันธุ์อยู่กินระหว่างขอม มอญลั้ว ละว้า เกิดเป็นชาว”ชอง” ส่วน ชายทะเลอำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอแกลง อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านฉาง ชาวชอง ชาวขอม ชาวมอญนั้นมาตั้งหลักแหล่งทำประมงเกิดเป็นชุมชนที่คงเอกลักษณ์ด้านภาษามาจนทุกวันนี้